นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 มกราคมนี้ สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังมีการเปิดประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น รวมทั้งเพื่อรองรับกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่
อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น นอกจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการแล้ว จะต้องพิจารณาถึงประเด็นรายละเอียดเฉพาะของแต่ละแห่งเองด้วย ดังนั้น จึงขึ้นอยู่แต่ละธนาคารว่าจะพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร แต่โดยภาพรวมของระบบเศรษฐกิจแล้วทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น
"เป็นเรื่องปกติที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจะต้องถูกส่งผ่านไปสู่ตลาดเงิน และสถาบันการเงิน แต่การที่สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์จะปรับตามเมื่อไหร่ ในอัตราเท่าไหร่จะขึ้นอยู่กับโจทย์ย่อยของแต่ละแห่ง ซึ่งต้องดูถึงโครงสร้างลูกค้า และอื่นๆ อันเป็นปัจจัยภายในของแต่ละแห่ง แต่โดยภาพรวมแล้วสถาบันการเงินถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเดียวกัน ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นทิศทางของดอกเบี้ยโดยรวมด้วย"
**แบงก์รอดูผลประชุม กนง.**
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารจะต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ก่อน จึงจะมีความชัดเจนถึงทิศทางดอกเบี้ยของธนาคาร โดยปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถกลับดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น รวมถึงให้สามารถก้าวข้ามไปสู่ Business Model ใหม่ได้ เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้สินเชื่อทั้งในส่วนของการเสริมสภาพคล่อง และเพื่อปรับปรุงหรือขยายธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเอื้ออำนวย
"เรื่องดอกเบี้ยเราคงต้องรอฟังผลการประชุม กนง.ออกมาก่อน แต่สิ่งที่เรายังต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการดูแลลูกค้า ซึ่งแม้ว่าภาพรวม เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ยังมีบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบางและต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงทุกกลุ่ม และที่สำคัญเราเชื่อมั่นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น จะดำเนินการด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืนต่อไป ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น่าจะดีขึ้นตามเช่นกัน ซึ่ง NPL ของธนาคารปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้"
สำหรับธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นั้น นายชาติศิริ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าหากสนใจจะทำเองหรือร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ และปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการ หรือนอนแบงก์เข้ามาติดต่อหรือพูดคุยแต่อย่างใด