xs
xsm
sm
md
lg

"คลังสินค้าให้เช่า-นิคมฯ" ดาวเด่นแรงเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวทะลักหนุนธุรกิจค้าปลีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คอลลิเออร์สฯ” ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปี 2566 ยังเติบโต หนุนให้ธุรกิจอุตฯ คลังสินค้าให้เช่า และธุรกิจนิคมฯ ยังเป็นอีกหนึ่งดาวเด่นของตลาดอสังหาฯ เผยผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดมียอดเช่าสัญญาใหม่ในคลังสินค้าและโรงงาน และศูนย์กระจายสินค้าถึง 2.5 แสนตร.ม. ส่วนธุรกิจค้าปลีกได้รับอานิสงส์การเปิดประเทศต่อเนื่อง

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจอุตสาหกรรมคลังสินค้าให้เช่า และนิคมอุตสาหกรรมว่า ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย มองว่าจะยังคงเป็นอีกดาวเด่นที่สำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์อีกหนึ่งประเภทในปี 2566 ต่อเนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะคลังสินค้าให้เช่า ความต้องการคลังสินค้าคุณภาพสูง รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ประกอบการในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี  2563 เป็นต้นมา ยังมีความต้องการอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

ซึ่งฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ณ สิ้น ปี 2565 คลังสินค้าและโรงงาน รวมถึงศูนย์กระจายสินค้ามียอดการเช่าสัญญาใหม่มากกว่า 250,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยพบว่าผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดยังสามารถปล่อยเช่าพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และยังคงไม่ปรับลดเป้าผลประกอบการในปีนี้

ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่า ทิศทางธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานในปี 2566 จะยังสามารถเติบโตได้ดี ความสนใจเช่าพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จ (Built-to-Suit) และ Warehouse Farm ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการต่างชาติยังมีความสนใจจะลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่มาก บวกกับความต้องการในภาคการส่งออกสินค้าหลายกลุ่ม เช่น ธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์

สำหรับตลาดพื้นที่ค้าปลีก ในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าผู้พัฒนารายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีก ยังคงมองหาโอกาสการพัฒนาและการขยายธุรกิจทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและพื้นที่โดยรอบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกที่เปิดบริการใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการปิดปรับปรุงพื้นที่ในช่วงก่อนหน้า และกลับมาเปิดตัวอีกครั้งหลังจากการปรับปรุงพื้นที่แล้วเสร็จสมบูรณ์

ซึ่งในปี 2565 ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า โครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่โดยรอบเปิดตัวใหม่ทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการพัฒนาของผู้พัฒนารายใหญ่ตลาด

"แม้ว่าจะมีผู้เช่าบางรายที่ขอคืนพื้นที่เช่า แต่พบว่ามีผู้เช่ารายใหญ่ที่เป็นแบรนด์สินค้าของต่างประเทศ ทั้งที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงมองหาพื้นที่เช่าเพิ่มเติมเพื่อการขยายสาขา ทั้งในส่วนของร้านอาหารชื่อดัง หรือแม้กระทั่งแบรนด์เสื้อผ้า ซึ่งเรายังคงเห็นภาพของการเปิดสาขาหรือเปิดร้านของแบรนด์ต่างๆ เหล่านี้ต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่เช่าที่เคยว่างลงมีผู้เช่ารายใหม่เข้ามาแทนทีในระยะเวลาอันรวดเร็ว แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะยังคงอยู่ในภาวะที่น่ากังวล"

จากปัจจัยบวกในเรื่องของการประกาศเปิดประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับตลาดพื้นที่ค้าปลีกในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2566

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญและมีผลต่อธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายให้ผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกต้องปรับตัว ผู้พัฒนารายใหญ่ยังคงใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับปรุงพื้นที่ให้ทันสมัยสำหรับการรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคของชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกมีความจำเป็นต้องปรับการดำเนินธุรกิจใหม่ตั้งแต่การปรับองค์กรให้อยู่รอด การปรับบิสิเนสโมเดลใหม่เน้นความแตกต่าง การเข้ายุคดิจิทัลมุ่งสู่ออมนิ ชาแนล มีการทำตลาดแบบหลายช่องทางสอดรับพฤติกรรมลูกค้าที่หลากหลายในการใช้ช่องทางซื้อ

“แม้ขณะนี้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายมากขึ้น แต่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ผู้บริโภคยินดีใช้จ่ายในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น พร้อมทั้งมองหาประสบการณ์ที่จะช่วยเชื่อมต่อโลกเสมือนจริงกับโลกที่เป็นอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น