กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) จัดสัมมนา "Improving Thailand's Capital Market and Efficiency" พร้อมเชิญผู้บริหารจาก McKinsey และสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) เผยผลการศึกษาโอกาสการเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืน โดยมีผู้ร่วมตลาดทุน และ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุนทั่วโลกยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตมาสู่ช่วงของการฟื้นตัว การจัดงานสัมมนาในวันนี้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจถึงศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมความพร้อมและร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับการสัมมนา "Improving Thailand's Capital Market and Efficiency" ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองถึงผลการศึกษา ซึ่งจัดทำโดยความร่วมมือระหว่าง CMDF ร่วมกับ McKinsey & Company (Thailand) Co.Ltd. จัดทำรายงานสมุดปกขาว "Improving Thailand's Capital Market Competitiveness and Efficiency" และ CMDF ร่วมกับสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) จัดทำงานวิจัย "ตลาดทุนของทุกคน"
สำหรับผลการศึกษา "Improving Thailand's Capital Market Competitiveness and Efficiency" ของ CMDF และบริษัท McKinsey ได้ข้อสรุปว่า โดยรวมตลาดทุนไทยมีการพัฒนาสู่การเป็นผู้นำของภูมิภาคในด้านความสามารถในการแข่งขัน และประสิทธิภาพของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการออกตราสารทุน (cash equity) หรือตลาดตราสารหนี้ (fixed income) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมากเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำของภูมิภาค หรือแม้แต่โอกาสของการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การบริหารด้านประสิทธิภาพต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญ และจากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันต้นทุนการซื้อขายหุ้นในตลาดรองมีต้นทุนที่สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน ยกเว้นประเทศอินโดนีเซีย
นายชนันต์ ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน CMDF เปิดเผยว่า เวลานี้ประเทศไทยกำลังพิจารณาเก็บภาษีขายหุ้น (FTT) ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในหลายมิติ ประกอบกับรูปแบบภาษีอาจมีผลกระทบที่ซับซ้อนต่อตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของตลาดทุนอื่นทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดียที่เรียกเก็บภาษีคล้ายกัน โดยมีรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่มีผลกระทบน้อยต่อปริมาณการซื้อขาย ในขณะที่ประเทศสเปนจัดเก็บภาษีได้น้อยลงควบคู่กับปริมาณการเทรดที่ลดลง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งในประเด็นสำคัญได้กล่าวถึงความยั่งยืนว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของตลาดทุนไทยโดยอ้างอิงจากผลการศึกษา ตลาดทุนไทยควรพิจารณาดำเนินตามขั้นตอนอย่างจริงจังเพื่อพัฒนากรอบงานที่จำเป็นต่อประเทศ เช่น ตลาดคาร์บอน (Carbon Exchange) และมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (national green taxonomy) เพื่อสนับสนุนการจัดหาเงินทุนเพื่อความยั่งยืนในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สิ่งนี้อาจนำมาซึ่งความชัดเจนในการจำแนกกลุ่มทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (taxonomy) ในด้านของการจัดหาเงินทุนระยะยาวที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของภูมิภาคและระดับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนถึงการจัดตั้งกองทุนสีเขียวโดยมีการร่วมมือกับบริษัทร่วมทุนและการจัดตั้งตลาดคาร์บอนที่เป็นที่ต้องการเพื่อสร้างมูลค่าจากสินทรัพย์คาร์บอนทั้งในประเทศ จนถึงระดับภูมิภาค
นายเชษฐา เทอดไพรสันต์ Senior Partner และ Chairman of McKinsey Indochina, บริษัท McKinsey & Company เปิดเผยว่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (net-zero) จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันให้ตลาดทุนเดินหน้าสู่การเงินสีเขียว ซึ่งอาจต้องจัดหาเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับการลดคาร์บอนของเทคโนโลยีที่มีอยู่ ตลอดจนพัฒนาทางเลือกอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้นิยามของความยั่งยืนที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งในประเทศไทยมีหลากหลายองค์กรที่เริ่มดำเนินโครงการสีเขียวแล้ว อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทีละก้าวจากวิถีปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบรรลุเป้าหมายของ NCZ โดยสามารถพิจารณาปฏิบัติได้ภายใต้ 3 ประการหลัก ดังนี้ 1) เพิ่มการจัดหาเงินทุนโครงการสีเขียวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของเทคโนโลยีที่ติดตั้งอยู่แล้วและสนับสนุนการลงทุนในโครงการสีเขียว 2) ต้องมีศักยภาพในการจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ และ 3) ประเทศไทยควรพิจารณากลไกการเทรดคาร์บอนซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษผ่านกลไกของตลาดที่ตั้งไว้ สิ่งนี้จึงสามารถช่วยในการจัดหาคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงสู่ตลาดในภูมิภาค
สำหรับผลการศึกษา "ตลาดทุนของทุกคน" ของ CMDF และสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้ข้อสรุปว่า การมีส่วนร่วมทางการเงิน จากการสำรวจการเข้าถึงตลาดทุนจากงานวิจัย "ตลาดทุนของทุกคน" พบว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างในตลาดทุนใน 4 ด้านหลัก คือ ปัญหาการขาดรายได้ การขาดความรู้และทักษะด้านการเงิน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงตลาดทุน
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) เปิดเผยว่า เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมด้านความรู้เพื่อเข้าถึงตลาดทุน จึงจำเป็นต้องมีข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ปรับระบบนิเวศสำหรับการเข้าถึงตลาดทุนโดยเอื้อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ 2) การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่มประชากรต่างๆ โดยรัฐบาล 3) ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความโปร่งใสในการทำงาน 4) การปรับกฎระเบียบด้านการเข้าถึง และ 5) การนำเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยมาใช้ เช่น Decentralized Digital Identity (DDID) เทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ตลอดจนอนุญาตให้ซื้อขายทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล และแบบดั้งเดิมบนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แก่ผู้ลงทุน
งาน "Improving Thailand's Capital Market and Efficiency" จัดขึ้นวันที่ 19 มกราคม 2566 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ผู้สนใจดูรายละเอียดและรับชมเทปการสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Facebook กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และ FETCO และ Youtube FETCOThailand