ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 ฟื้นตัวต่อเนื่อง เติบโต 3.4% จากแรงขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยว ชี้ไทยเผชิญ 5 ปัจจัยการเปลี่ยนผ่านสำคัญ เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ “การก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ภาคท่องเที่ยวฟื้น-ดอกเบี้ยขาขึ้น-ภาวะต้นทุนสูง” แนะภาคธุรกิจแสวงหาโอกาสและวางแผนรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมิน ปี 2566 ว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง นำพาเศรษฐกิจไทยไปอยู่ในจุดที่ไม่คุ้นเคย ภายใต้โลกใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะชะลอตัว เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการท่องเที่ยว การเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย และการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น
"การเปลี่ยนผ่านไปสู่จุดที่ไม่คุ้นเคย ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ไม่เคยเกิด เพียงแต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา อย่างอัตราดอกเบี้ยต่ำแทบติด 0% ที่คุ้นเคยมานาน ปีนี้เราจะเริ่มเห็นระดับที่สูงขึ้น เงินเฟ้อที่เคยต่ำปีนี้จะยังสูงทำให้เฟดยังปรับขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะแตะ 5.00-5.25%ในครึ่งปีแรกและทรงตัว การเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลางอากาศจากการส่งออกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามาเป็นภาคท่องเที่ยวในปีนี้จะราบรื่นหรือไม่ จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงหรือไม่ หรือการเปลี่ยนสู่สังคมไร้คาร์บอนที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนและมีความเข้มข้นมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญและภาคธุรกิจจะต้องตระหนัก เพื่อรับมือกับต้นทุนที่จะสูงขึ้น และให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป"
นายชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า Krungthai COMPASS คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที่ 3.4% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 3.2% แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจะถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 22.5 ล้านคน หรืออาจจะมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนหลังประเทศจีนผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลงจะกระทบต่อการส่งออก ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยเดินหน้าด้วยเครื่องยนต์เดียวจึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก
นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อสูงจะยังไม่หมดไปเนื่องจากภาคธุรกิจยังต้องรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 2% ในปี 2566 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) อาจอยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 เป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัวของประเทศไทย ซึ่งจากปัจจัยการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูเต็มจำนวนผนวกกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.แล้ว คาดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) จะแตะระดับ 6% ในปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ปีนี้ที่ 3.1% ซึ่งแม้จะชะลอลงจากปี 65 ที่คาดการณ์ไว้ 6.1% แต่ยังสูงกว่าระดับเฉลี่ยที่ผ่านมา และสูงกว่ากรอบประมาณการบนของ ธปท. ขณะที่ภาคการบริโภคจะชะลอลงจากการลดบทบาทของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ และประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ 22.5 ล้านคน จากปี 65 ที่คาดการณ์ 10.2 ล้านคน และมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้เพียง 0.7% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนค่าเงินบาทยังเผชิญความผันผวนจากการคาดการณ์นโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.75-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ จะชะลอตัวจากการขึ้นดอกเบี้ย และยุโรปมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตพลังงาน แต่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศเหล่านั้นยังมีทิศทางที่เข้มข้นมากขึ้น สะท้อนจากการตอกย้ำจุดยืนของประชาคมโลก รวมถึงประเทศไทยในเวทีการประชุม COP27 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สำหรับในปี 2566 ภาคธุรกิจต้องติดตามประเด็นด้านกฎเกณฑ์ที่สำคัญ เช่น การเดินหน้าบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน หรือ CBAM ของยุโรป และแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy ของประเทศไทย นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังต้องมองหาโอกาสจากนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น นโยบายเศรษฐกิจ BCG และนโยบายการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติภายใต้แนวคิด “Better and Green Thailand 2030” เป็นต้น