xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารกรุงเทพแนะ 5 แนวทางลดเสี่ยงภัยทางไซเบอร์ เพิ่มความระมัดระวังช่วงปีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกรุงเทพ แนะ 5 แนวทางใช้ดิจิทัลแบงกิ้งอย่างสบายใจ สกัดภัยทางไซเบอร์ ยึดหลัก “ช้าแต่ชัวร์” อย่ารีบตัดสินใจ เสี่ยงตกเป็นเหยื่อ ชี้มิจฉาชีพหันโจมตีจุดอ่อนเรื่องพฤติกรรม-ประมาท ย้ำเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ เหตุเงินสะพัด-ปริมาณธุรกรรมสูงกว่าปกติ

นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้จัดการจัดการความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)
เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเลือกใช้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางออนไลน์และดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และลดการใช้เงินสด ซึ่งธนาคารได้มุ่งมั่นพัฒนาบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานดังกล่าว รวมถึงการให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าในด้านความปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรมบนหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพบว่า ภัยทางไซเบอร์ที่พบค่อนข้างมากช่วงที่ผ่านมา จะพบได้บ่อยใน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.) การชักจูงเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลด้วยฟิชชิงอีเมล หรือ SMS ที่มักมีลิงก์ให้กรอกข้อมูล 2.) การหลอกล่อให้ทำตามที่ต้องการ เช่น การดาวน์โหลดโปรแกรม 3.) การเข้าถึงเครื่องที่ใช้งานทางช่องโหว่ 4.แอบอ้างหน่วยงานภาครัฐเพื่อเร่งรับบังคับให้ทำตาม 5.) ส่งเอกสารที่มีมัลแวร์มากับเมล

ทั้งนี้ ในฐานะธนาคารที่มีความมุ่งมั่นในบทบาทการเป็น “เพื่อนคู่คิด” ให้แก่ลูกค้า ธนาคารขอแนะนำ 5 แนวทางเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ทุกการทำธุรกรรมของลูกค้า
- ต้องมั่นใจว่าอัปเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชันปัจจุบันอยู่เสมอ
- ติดตั้งเครื่องมือป้องกันภัยคุกคาม เช่น โปรแกรมป้องกันไวรัส
- ไม่ติดตั้งซอฟต์แวร์จากลิงก์ที่แนบมากับเมลหรือ SMS
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคล รหัส OTP หรือรหัสผ่านแก่ผู้อื่น
- เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมทุกขั้นตอน

นายกิตติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่าแฮกเกอร์ มุ่งเน้นการโจรกรรมไปยังผู้ใช้งานโดยตรง เนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีความรู้ ประสบการณ์และความระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้งานแตกต่างกัน ซึ่งแฮกเกอร์จะอาศัยช่องโหว่หรือจุดอ่อนของพฤติกรรมผู้ใช้งานในการโจมตี โดยใช้เทคนิคการโน้มน้าวเหล่านี้

ใช้ความเร่งด่วนของเหตุการณ์มากระตุ้นให้รีบตัดสินใจ เช่น การทำรายการในเวลาที่กำหนด มีเหตุฉุกเฉินที่ต้องทำรายการเลยทันที

หลอกลวงให้เชื่อและชักจูงให้ไขว้เขวตาม เช่น การกรอกข้อมูล ซึ่งปกติใช้เพียง User name และ Password แต่หลอกลวงหรือชักจูงว่าต้องการข้อมูลมากกว่านั้น

ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและหว่านล้อมให้หลงเชื่อคำหลอกลวง เช่น บุตรหลานประสบเหตุ ต้องใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาลโดยด่วน
อ้างถึงองค์กรผู้มีอำนาจ เช่น กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษี หรือใบเรียกเก็บค่าปรับจราจร เป็นต้น

“สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้งานควรเพิ่มความใส่ใจ คือ การวิเคราะห์และเข้าใจในตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน มีพฤติกรรมแบบใด เช่น เมื่อได้รับข้อความจากกลุ่มเพื่อนแล้วส่งต่อเลย โดยไม่ได้อ่านให้ละเอียด หรือตัดสินใจเร็วด้วยความประมาท เมื่อเข้าใจตัวเองรวมถึงพฤติกรรมของตัวเราแล้ว พฤติกรรมสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ คือ การลดความเร็วในการตัดสินใจ และการกระทำที่เรียกว่า ‘ช้าแต่ชัวร์’ คือ ตรึกตรองและใคร่ครวญวัตถุประสงค์ก่อนทุกครั้ง ทบทวนอีกรอบ จะช่วยให้สามารถพิจารณาได้อย่างละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงเทศกาลต่างๆ ที่เป็นช่วงจับจ่ายใช้สอย มีเงินสะพัดและปริมาณธุรกรรมที่สูง ดังนั้น ผู้บริโภคควรต้องเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน” นายกิตติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น