xs
xsm
sm
md
lg

KBank Private Banking แนะกลยุทธ์ลงทุนปี 66 ตั้งรับ ศก.โลกถดถอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคแบงก์ ไพรเวท แบงกิ้ง เผยภาพรวมปี 65 การลงทุนมีความท้าทายสูง ขณะที่พอร์ต K-ALPHA ยังคงรักษาระดับผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีตัวชี้วัด ด้านสินทรัพย์นอกตลาดได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยกองทุนเปิดตัวใหม่ปีนี้ระดมทุนได้รวมกว่า 5 พันล้านบาท พร้อมประกาศเดินหน้านำเสนอนวัตกรรมการลงทุนทางเลือกในปี 2566 ตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอย และเดินหน้าบริการที่ปรึกษาบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว เสริมความแกร่งโซลูชัน 4 เสาหลัก เพื่อสร้างการเติบโต เก็บรักษา และส่งต่อความมั่งคั่ง

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 
เปิดเผยว่า บริบทการลงทุนในปี 2565 มีความท้าทายเป็นอย่างสูง จากราคาที่ปรับตัวลงแรงในแทบทุกสินทรัพย์หลัก ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ปรับตัวลดลงพร้อมๆ กัน โดยผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกและพันธบัตรรัฐบาลโลกนับจากต้นปีปรับตัวลดลงถึง -17.9% และ -16.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสสุดท้ายตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากสัญญาณบวกหลายปัจจัย ทั้งผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มอ่อนแอลง และมีแนวโน้มจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาชะลอตัวอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดลดความเร็วการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตลอดปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ให้ความสำคัญกับการสร้างพอร์ตที่มีความคล่องตัวสูง รองรับสถานการณ์ที่ผันผวน กระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก และยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยพอร์ตลงทุนที่แนะนำลูกค้าอย่าง K-ALPHA มีการจัดการความเสี่ยง และกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ตั้งแต่สินทรัพย์สภาพคล่อง กองทุนผสมในฐานะพอร์ตหลัก กองทุนรวมหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก ตลอดจนสินทรัพย์นอกตลาดอย่างกองทุนหุ้นนอกตลาด ยังคงสามารถรักษาระดับผลตอบแทนอยู่ระหว่าง -3.8 และ -5.5% นับจากต้นปี ในขณะที่ผลตอบแทนขาดทุนสูงสุดอยู่ระหว่าง -5.7% และ -8.3% หากเทียบกับการกระจายการลงทุนแบบดั้งเดิม (หุ้น 60 : ตราสารหนี้ 40) ให้ผลตอบแทนที่ -14.8% ในขณะที่ผลตอบแทนขาดทุนสูงสุดที่ -23.8% หรือหากเทียบกับการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้อย่างเดียวให้ผลตอบแทนที่ -15.0% และ -14.4% ในขณะที่ผลตอบแทนขาดทุนสูงสุดที่ -26.1% และ -21.9% ตามลำดับ

สำหรับการระดมเงินลงทุนผ่านกองทุน K-ALLROAD Series นวัตกรรมการลงทุนขับเคลื่อนอัตโนมัติ บนหลักการ Risk-based Asset Allocation ยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทั้ง 3 กองทุนในซีรีส์นี้สามารถระดุมเงินลงทุนจากลูกค้าไปได้กว่า 5.4 พันล้านบาท และสำหรับ 3 กองทุนที่เสนอขายครั้งแรกในปีนี้ ได้แก่ กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPE22B-UI) กองทุนตราสารหนี้และหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPA22A-UI) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยนอกตลาด (ASP-APR-UI (KEX)) โดยทั้ง 3 กองทุนสามารถระดมเงินลงทุนรวมสูงถึง 5 พันล้านบาท ขณะที่กองทุนหลักที่ธนาคารแนะนำอย่างกองทุนเปลี่ยนโลก (K-CHANGE) ยังคงมีผลตอบแทนที่ดี โดยกองทุนหลักสามารถสร้างผลตอบแทนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนได้สูงถึง 197% หรือเฉลี่ย 20.07% ต่อปี

ด้านบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวปัจจุบันให้บริการลูกค้า 790 ครอบครัว หรือราว 36% ของลูกค้าทั้งหมด และมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแลครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัวทั้งธุรกิจและที่ดินประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ในขณะที่บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการที่ปรึกษาครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์มูลค่ารวม 3.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ Land Loan for Investment เพื่อแปลงทรัพย์สินที่ดินมาเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่อนุมัติแล้ว 1.8 พันล้านบาท โดยในปี 2565 KBank Private Banking ให้บริการลูกค้าประมาณ 13,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 2566 ที่ KBank Private Banking แนะนำจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การแตะจุดสูงสุดของบอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ดังนี้

“ก่อน” บอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น เน้นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูง เช่น หุ้นบริษัทที่ความสามารถในการแข่งขัน และกำหนดราคา ทำให้สามารถเป็นผู้ชนะในภาวะเงินเฟ้อสูงได้ กระจายความเสี่ยงผ่านสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุน Hedge Fund กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์นอกตลาดที่มีความผันผวนด้านราคาในระยะสั้นต่ำ

“หลัง” บอนด์ยิลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด แนะนำลงทุนบางส่วนในทองคำ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นอ่อนค่าลง หุ้นกู้เอกชนผลตอบแทนสูง (High Yield) จะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพื่อต้านทานภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจนขึ้น

“ในปี 2566 ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมความแข็งแกร่งของโซลูชันใน 4 เสาหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย การลงทุนบนหลักการ Risked-based Asset Allocation การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การลงทุนเพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งขึ้นในการสร้างการเติบโต เก็บรักษา และส่งต่อความมั่งคั่งของลูกค้าต่อไปในอนาคต”
กำลังโหลดความคิดเห็น