นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการอย่างหนาแน่นเช่นเดียวกับการจัดงานทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานมากกว่า 4,500 รายการ”
การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมชมงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวปาฐกถาถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคงต่อการดำรงชีพ โดยงานมหกรรมครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินได้อย่างครอบคลุมและตรงจุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวต่อไป
ผลของการจัดงานมหกรรมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานมากกว่า 4,500 รายการ ประกอบด้วย การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม จำนวนมากที่สุดกว่า 1,600 รายการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากงานมหกรรมครั้งที่ 3 ได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์มาร่วมออกบูทเพิ่มเติมด้วย ดังนั้น ในครั้งต่อๆ ไปจะมีธนาคารพาณิชย์มาร่วมออกบูทภายในงานด้วยเช่นกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภายในงานครอบคลุมความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น รองลงมา คือ การขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพกว่า 1,200 รายการ การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 600 รายการ และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การจำหน่ายทรัพย์ NPA จากทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น ประมาณ 1,100 รายการ
ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนทำได้ต่อเนื่องและครอบคลุมประชาชนในทุกพื้นที่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจึงมีแผนที่จะจัดงานครั้งต่อ ๆ ไป อีก 2 ครั้ง ในภาคตะวันออก และภาคใต้ ดังนี้
ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20-22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน
ครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา วันที่ 27-29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นอกเหนือจากการจัดงานมหกรรมรูปแบบสัญจรแล้ว กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้จัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออนไลน์นี้ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น และเป็นการรวบรวมเจ้าหนี้ไว้มากที่สุด รวมทั้งครอบคลุมประเภทสินเชื่อมากที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 170,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 380,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลร้อยละ 35 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 19 ภาคกลางร้อยละ 12 และภาคอื่นๆ ร้อยละ 34 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเคร ดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 และจำนำทะเบียนรถร้อยละ 4
ดังนั้น ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม และสามารถลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้ทางเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/DebtFair หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอเชิญชวนประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ได้ทั้งระบบออนไลน์ หรือเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม 2566 โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรี วันที่ 20-22 มกราคม 2565 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน หรือสามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสาขาของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศได้เช่นกัน”
QR Code สำหรับลงทะเบียนเข้าร่วมงาน
“มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4-5
https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT
QR Code สำหรับลงทะเบียนแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออนไลน์
https://www.bot.or.th/DebtFair
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
1.สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โทร.0-2202-1868 หรือ 0-2202-1961
2.ธนาคารออมสิน โทร.0-2299-8000 หรือสายด่วน 1115
3.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร.0-2111-1111
4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร.0-2555-0555
5.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร.0-2645-9000
6.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร.0-2265-3000 หรือสายด่วน 1357
7.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร.0-2169-9999
8.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร.0-2650-6999 หรือสายด่วน 1302
9.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร.0-2890-9999