ปัญหา"หนี้ครัวเรือน"นับเป็นหนึ่งในปัญหาที่เรื้อรังของไทยมาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขยายวงกว้างขึ้น จากสถานการณ์โควิด 19 ระบาดเข้ามาซ้ำเติม...โดยปัจจุบันแม้ว่าภาครัฐจะระดมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพยายามสะสางเรื่องดังกล่าว แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้ามากนัก..และในฐานะหน่วยงานที่คลุกคลีกับหนี้มากที่สุดหน่วยงานหนึ่งของประเทศอย่างบริษัทข้อมูลเครดิต แห่งชาติ (เครดิต บูโร)ที่มี "สุรพล โอภาเสถียร" เป็นหัวเรือใหญ่..จะมาไขข้อสงสัยกันว่า ทำไมหนี้ครัวเรือนไทยแก้ยาก...
รู้ลึกเรื่องหนี้
บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เผย 10 เดือนแรกของปี 2565 หนี้ของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) เติบโต 4.7% เป็นหนี้ที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ 6.3 ล้านล้านบาท โดยสถาบันการเงินของรัฐ 4 ล้านล้านบาท โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ 2 ล้านล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล และเช่าซื้อต่างๆ 1.6 ล้านล้านบาท และจากจำนวนหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านล้านบาท อยู่ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร 13 ล้านล้านบาท ที่เหลือก็เป็นส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร
และที่สำคัญจากหนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรจำนวน 13 ล้านล้านบาทดังกล่าว 28% เป็นหนี้ที่เอาไปกินไปใช้หรือเป็นเงินที่นำไปบริโภคแล้วหมดไป แล้วก็ต้องเอารายได้ในอนาคตมาจ่ายหนี้ ขณะที่รายได้ในอนาคตเจอกับสถานการณ์โรคระบาด รายได้ไม่เข้า ขายของไม่ได้ ก็เกิดปัญหาการจ่ายหนี้ไม่ได้ เกิดปัญหาเรื่องหนี้เสีย
"ที่มองกันก็คือหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีบอกว่าถ้าเกิน 80%ไปแล้ว ถือว่าอยู่ในระยะอันตราย แต่ปัจจุบันก็ 80-90%ไปแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับที่เกินเส้นอันตรายมา 2ปีแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมาโดนซ้ำเติมเรื่องของโควิด จีดีพีตก ก็เลยทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นกระโดดไปถึง 90% ขณะประเทศที่รวยกว่าเราหรือประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 78% ส่วนประเทศจนกว่าเราจะอยู่ที่ 50% ดังนั้นไทยเรียกว่าไม่รวย แต่มีหนี้เยอะ แล้วก็เจอโรคระบาดรายได้ไม่เข้า หนี้กลายเป็นหนี้สูญเยอะ..ซ้ำมาเจอเรื่องของแพง ค่าแรงถูก ราคาพลังงาน การแก้ตรงนี้ยุ่งยากไปหมด..จะขึ้นดอกเบี้ยก็กระทบ แต่ไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้"
หนี้ครัวเรือนประเด็นหลักในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ทำไมการแก้ไขหนี้ครัวเรือนจึงเป็นประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ...ในจำนวนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระบบเครดิตบูโร 13 ล้าน จาก 32 ล้านบัญชีลูกหนี้ มีจำนวน 500,000 ล้านบาท เป็นหนี้บัตรเครดิต อีก 2.5 ล้านล้านบาทเป็นสินเชื่อบุคคล นี่คือตัวปัญหา ถัดมาเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 2.5 ล้านล้านบาท หนี้บ้าน 4.7 ล้านล้านบาท สินเชื่อเพื่อการเกษตร 1 ล้านล้าน สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์-อุปกรณ์การเกษตร-ไม่ใช้รถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจอีก 1.5 ล้านล้านบาท
แล้วก็ยังมีส่วนของช่วงเกิดโควิด 19 นับจากปี 63 เป็นต้นมา นับรวมธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐได้ปล่อยกู้ลงไปที่กลุ่มฐานรากหรือรายได้ไม่มากยอดแรก 2.3 ล้านบัญชี วงเงินตั้งแต่ 5,000 บาท- 30,000 บาท รวมแล้วใน 2 ปี 9 เดือนที่ผ่านมา ปล่อยไปแล้ว 15 ล้านบัญชี ให้กับ 5-6 ล้านคน ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มเปราะบาง...ก็จะต้องประเมินว่าจากส่วนตรงนี้มีโอกาสเป็นหนี้เสียในปี 66 มากหรือไม่ ในสภาวะที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มกลับมา..คาดว่าสักครึ่งหนึ่งกลายเป็นหนี้เสียหรือ 2 ล้านคน ที่ติดกับดักหนี้ในระยะต่อไป ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง..กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียต่อไป
สรุปก็คือ หนึ้ครัวเรือนที่อยู่ในระบบของเครดิต บูโร 13 ล้านล้านบาท ตอนนี้เสียไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5.5 ล้านคน แบกหนี้เสีย 1 ล้านล้านบาท แล้วก็จะมีมาเติมในอนาคตจากกลุ่มเปราะบางคือคือกลุ่มที่เริ่มมีหนี้ค้าง 1 เดือน 2 เดือน แต่ยังไม่เกินเป็นเอ็นพีแอล..จะไหลมาหรือไม่ ก็ต้องดูว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดีขึ้นก็จะไหลมาน้อย ถ้าไม่ดีกลุ่มนี้่ก็จะไหลมายาว
แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้-สางหนี้ครัวเรือน
ถัดไป...มาดูกลุ่มที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว ปัจจุบันมียอดหนี้เสียที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 780,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหากเร่งดำเนินการก็จะทำได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในไม่ช้า ฉะนั้น ตอนนี้มีหนี้ที่เสียไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท กำลังจะเสียอีก 3-4 แสนล้านบาท และที่ปรับโครงสร้างหนี้อยู่จะรอดต่อหรือไม่ยังไม่รู้อีก 780,000 ล้าน อาการเหล่านี้คืออาการที่เรียกว่าเรามีปัญหาหนี้ครัวเรือน แบบที่จะกลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง..แล้วมาถูกซ้ำเติมด้วยเรื่องเงินเฟ้อ ของแพง จ่อมาด้วยราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้าอันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวเพราะมันจะไหลไปต้นทุนสู่สินค้าและบริการทั้งปวง ซึ่งเริ่มเห็นแล้ว ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่จะขึ้นราคา รวมถึงดอกเบี้ยขาขึ้นดอกเบี้ยบ้านล้วนกระทบต่อค่าใช้จ่าย หรือค่าครองชีพที่จะเห็นได้ในไม่ช้านี้
ดังนั้น มองไปในปี 66 ก็คงไม่สดใส การฟื้นตัวมีแน่นอน แต่การฟื้นตัวนั้น ยังกระจุก ไม่กระจาย คนที่มีหนี้สินยังออกจากกับดักหนี้สินนี้ได้น้อยอยู่
อุ้มกลุ่มรับผลกระทบโควิดฯ
มาดูจำนวนคนที่เป็นหนี้เสียเพราะโควิดฯ ก็คือคนที่ในช่วงปี 62 ยังเป็นลูกหนี้ที่ดีชำระหนี้คืนปกติทุกบัญชี แต่พอมีสถานการณ์โควิดฯในปี 63 ,64 และ65 ก็กลายเป็นหนี้เสีย โดยช่วงเดือน 9 ปี 65 ที่ผ่านมามีจำนวนหนี้เสียจากโควิด 3.2 ล้านคน จากทั้งหมด 5.5 ล้านคน ก็คือคนที่เป็นหนี้เสียเพราะโควิดฯคือ 3 ใน 5 ของจำนวนรายที่เป็นหนี้เสีย คิดเป็นยอดรวม 1.1 ล้านล้านบาท หรือ 40% ของยอดหนี้เสียรวมผลกระทบจากโควิด ทำให้คนดีกลายเป็นหนี้เสียรุนแรงมากๆในเวลาเพียง 2 ปี ความเร็วในการเป็นหนี้เสียก็รวดเร็วส่งผลให้กลายเป็นหนี้เสียรวดเร็ว...เดือนมกราคมปี 65 ที่ผ่านมา มี 1.9 ล้านคน มูลค่า 200,000 ล้านบาท ผ่านอีก 9 เดือนขึ้นมาเป็น 400,000 ล้านบาทแล้ว ขึ้นมา 100% และถ้าเศรษฐกิจกลับมาแต่กระจายไม่มากพอ 400,000 ล้านบาทตรงนี้น่าห่วงว่าจะมาสมทบเป็นหนี้เสีย
ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะไปแก้ที่จุดไหน ก็คือคนที่เป็นหนี้เสียเพราะโควิด เพราะเป็นหนี้ดีมาก่อนและไม่มีความตั้งใจอยากจะเป็นหนี้เสีย ถ้าหยิบคนกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกๆ ปรับโครงสร้างหนี้เขาให้เร็ว มีเกณฑ์ที่ชัดเจนใช้ได้จริง อาทิ กำหนดสัดส่วนการใช้หนี้และรายจ่ายเป็นรายเดือนที่เหมาะ การรวมหนี้จากหลายสถาบันเป็นก้อนเดียว...ก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว แล้วกลับมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปี 66 - 67 ต่อไป..อันนี้คือโจทย์ที่ต้องทำ ซึ่งมาถึงตอนนี้ไม่ใช่ทำหลักหมื่นแล้ว แต่พูดถึงหลักล้าน เหมือนปี 40 เราทำได้เร็วเพราะมีคนกลางที่เข้มแข็งเข้ามาดูแล
แนะดึงฟินเทคช่วย
วิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นลักษณะเชิญชวนลูกหนี้ไปพบกับเจ้าหนี้ แล้วก็คุยกันเองให้จบ ซึ่งมันยาก เพราะลูกหนี้ก็กลัวเจ้าหนี้ไม่อยากเข้าระบบ เจ้าหนี้ก็พยายามจะเอาส่วนของตัวเองให้ได้มากที่สุด ลูกหนี้ก็ไม่ไหว. จึงพบว่า มีคนสนใจอยากจะแก้ แต่ความจริงจังจริงใจที่จะแก้ให้ยังน้อย และทางเครดิตบูโรอยากเห็นสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ที่มากขึ้น เป็นหลักล้านล้านบาท แต่ตอนนี้ตัวเลขต่ำอยู่ 7-8 แสนเป็นปีแล้ว ซึ่งก็น่าเป็นห่วง
ในมุมของเรา.. อาจจะยืมมือสตาร์อัปฟินเทค คนที่ถสร้าง Engagement ทำให้ฝั่งลูกหนี้-เจ้าหนี้เข้ามาในระบบมากขึ้น แบบไม่ต้องเห็นหน้ากันก็ได้ แล้วก็ต้องมีคนกลางทางการออกเกณฑ์ตรงกลางในเรื่องสัดส่วนชำระหนี้ต่อรายได้ เป็นต้น มีเกณฑ์การมัดรวมหนี้ ตารางการจ่ายหนี้ เพราะจะปล่อยให้ตกลงกันเองก็จะสำเร็จยาก
“โจทย์ตรงนี้ถ้าเราใช้ความรู้ความสามารถของน้องๆฟินเทคมาสร้างพื้นที่เหมือน Market Place เอาลูกหนี้-เจ้าหนี้มาเจอกัน ทางออนไลน์ก็ได้ แล้วก็มีตัวกลางคือทางการลงไปดูในรายละเอียด แล้วจับให้ชนกันให้ได้ ใน 4-5 วัน แล้วประกาศจบดีล เมื่อคนเห็นความสำเร็จ มันก็จะเป็นปรากฎการณ์สโนว์บอล.ที่มีคนเข้ามามากขึ้นๆ จะเร่งให้เกิดการขายวงกว้างมากขึ้น แต่ถ้าใช้วิธีแบบเก่า เชิญมาลงทะเบียน รอติดต่อกลับ เรื่องก็จะยืดเยื้อและไปไม่ถึงไหน
“คำว่า ตลาดของการแก้ไขปัญหาหนี้ ถ้าเปรียบก็อยากให้มีโรงพยาบาลสนามสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน อาการเขียว เหลือง แดง ส้ม ว่ากันไป ให้ยากันเป็นชุดๆตามระดับอาการ และครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้คนที่ออกจากโรงพยาบาลสนามอาการลดลง แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะรอดทุกราย แต่จะเซฟชีวิตคนให้ได้มากที่สุด วัคซีนการปรับโครงสร้างหนี้ขนานใหม่จะใช้ยังไง การสร้าง Market Place ตรงนี้ น้องฟินเทคเขาเก่ง เข้ามาแล้ว 4 วัน แก้หนี้ได้ เซ็นสัญญากันจบ..เซ็นกันในอากาศก็ได้ เขาก็จะได้ตั้งต้นชีวิตได้ อันนี้คือสิ่งที่เราอยากเห็น ได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัล แล้วจากความรู้ของคนไทยวัยหนุ่มสาวให้มากที่สุดด้วย”
2 ล้านครัวเรือนไทยหนี้มาก – คาดเกินทศวรรษเพื่อหลุดพ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(EIC SCB)ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนของไทย ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการมีการสะสมหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ไม่สามารถเติบโตได้ในอัตราเดียวกัน โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นจาก 52.4% ในปี 2551 เป็น 90.1% ณ สิ้นปี 2562 และในช่วงหลังเกิดวิกฤตโควิด ทำให้ไทยมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วอย่างชัดเจน โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยครึ่งแรกปีนี้อยู่ที่ 88.2%
ทั้งนี้ EIC SCB ได้ทำการประเมินความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยด้วย Machine learning พบว่า “ครัวเรือนเปราะบาง” หรือ ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้และทรัพย์สิน มีถึง 2.1 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านครัวเรือนในช่วงก่อนวิกฤตโควิดปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 24% ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง คือมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่กลับมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และครัวเรือนเปราะบางทำให้มีโอกาสประสบปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 30% โดยสิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยในภาพรวม คือ ไม่ใช่ทุกครัวเรือนเปราะบางจะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยง่าย เพราะยังมีหลายข้อจำกัดที่สำคัญ ได้แก่
(1) การไม่มีเงินเหลือเก็บ ซึ่งเป็นปัญหาของครัวเรือนสัดส่วนถึง 61.2% ของกลุ่มเปราะบาง คนกลุ่มนี้จะไม่มีเงินเหลือไปใช้หนี้เดิม หรืออาจต้องก่อหนี้ก้อนใหม่มาเพื่อใช้หนี้เก่า เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย
(2) การเป็นครัวเรือนสูงอายุ ครัวเรือนเปราะบาง 15.1% มีคนทำงานในครัวเรือนใกล้วัยเกษียณ ทำให้ระยะเวลาในการหารายได้มาเพื่อลดความเปราะบางมีจำกัด อาจต้องทำงานจนเลยวัยเกษียณ เพื่อให้สถานะทางการเงินกลับสู่ภาวะปกติ
(3) การมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ถือเป็นอีกความท้าทายสำหรับหลายครัวเรือน ซึ่งทำให้บางส่วนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบซึ่งมักมีดอกเบี้ยสูงที่ทำให้ภาระการชำระหนี้สูงตามไปด้วย เป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งของความเปราะบางในหลายครัวเรือน
ขณะที่การเร่งตัวของค่าครองชีพจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ล้วนแล้วแต่ส่งผลโดยตรงต่อปัญหาความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือน โดยจะส่งมีกลไกการส่งผลใน 3 ด้านประกอบด้วย รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้เงินเหลือไปใช้หนี้ลดลง รวมถึงรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้บางครัวเรือนต้องกู้ยืมมามากขึ้น โดย EIC SCB ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 3-4% จากปี 2564 โดยหนี้เพื่อนำมาใช้เป็นสภาพคล่องจะเป็นประเภทหนี้ที่เติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ภาระการชำระหนี้สูงขึ้น
นอกจากนี้ การศึกษานี้พบว่าครัวเรือนไทยที่เปราะบางจากปัญหาหนี้ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 9.4% จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด แม้อาจเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก หากนับเฉพาะครัวเรือนไทยที่มีหนี้ (51.5% ของครัวเรือนทั้งหมด) จะพบว่า เกือบราว 1 ใน 5 ของครัวเรือนที่มีหนี้นั้นเป็นครัวเรือนเปราะบางจากปัญหาหนี้หนัก และสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงจากช่วงก่อนหน้า อีกทั้งยังอาจลดลงไม่ได้ง่ายในเวลาอันสั้น โดยข้อดังกล่าวบ่งชี้ 4 นัยต่อเศรษฐกิจที่สำคัญดังนี้
(1) ความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อผู้บริโภคยังมีความน่ากังวล แม้ในปัจจุบันสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่สูงมากนักส่วนหนึ่งจากการมีมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน แต่ลูกหนี้ถึง 1 ใน 5 ยังมีความเปราะบาง การลดระดับความช่วยเหลือและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้ามีโอกาสส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ จึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
(2) ความท้าทายในการแก้ไขปัญหานี้คือข้อจำกัดของครัวเรือน ได้แก่ การขาดสภาพคล่อง ความเปราะบางในครัวเรือนสูงอายุ และการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ต้องการความช่วยเหลือพิเศษหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสม ฯลฯ และการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) ก็มีส่วนช่วยให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงการกู้ยืมในระบบได้มากขึ้น
(3) การป้องกันไม่ให้ตกไปเป็นครัวเรือนเปราะบางถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อกลายเป็นครัวเรือนเปราะบางจะใช้เวลานานมากในการแก้ไข และยังเสี่ยงที่จะเจอปัญหาอื่นเพิ่มนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสะสมเงินทุนสำรองเป็นสภาพคล่องยามฉุกเฉิน ควบคู่ไปกับการทำประกัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากกรณีไม่คาดฝันที่อาจเกิดกับชีวิต อีกสิ่งสำคัญ คือ การมีวินัยทางการเงินโดยเฉพาะในด้านการก่อหนี้ที่ต้องทำอย่างเหมาะสมกับความสามารถในการชำระของตนเอง ซึ่งภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนนั้นไม่ควรเกิน 30% ของรายได้โดยเฉลี่ย
(4) นอกจากปัญหาความเปราะบางจากหนี้สูงแล้ว ครัวเรือนไทยอีก 1 ใน 4 ยังประสบปัญหารายได้ต่ำ และเสี่ยงที่จะตกชั้นกลายเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือและการเพิ่มศักยภาพทางการเงินทั้งด้านการหารายได้และวินัยทางการเงินเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มรายได้ที่เติบโตช้าและปัญหาหนี้เดิมสูง EIC SCB ประเมินว่า ครัวเรือนอาจต้องใช้เวลาถึง 13 ปีโดยเฉลี่ยในการแก้ไขปัญหาความเปราะบาง โดยพบว่าบางครัวเรือนมีความเสี่ยงที่จะหลุดพ้นจากปัญหาได้ยากกว่าปกติ จากการเผชิญ 3 ข้อจำกัดสำคัญ คือ การไม่มีเงินเหลือเก็บ การขอสินเชื่อใหม่ได้ยาก หรือการเป็นครัวเรือนสูงอายุที่อาจมีข้อจำกัดทั้งด้านระยะเวลา และความสามารถในการหารายได้ นอกจากนี้ ปัญหาค่าครองชีพเร่งตัวและแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเปราะบางสูงขึ้นจากแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลทำให้ความเสี่ยงด้านหนี้เสียของผู้บริโภคยังมีความน่ากังวล