นายศีล นวมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟันดิ้ง โซไซตี้ ประเทศไทย (Funding Societies) ภายใต้บริษัท เอฟเอส สยาม จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้เปิดแพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี เปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ฟันดิ้ง โซไซตี้ในไทยได้ระดมทุนให้เอสเอ็มอีได้รับเงินทุนแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีรายเล็ก หรือมีรายได้ 5 ล้านบาทขึ้นไป และต้องมีงบการเงินเกิน 1 ปีขึ้นไป ไม่ต้องไม่มีหลักประกัน กู้ระยะสั้น 1 เดือน ถึง 1 ปี โดยดูจากใบแจ้งหนี้ที่ได้รับจากการรับคำสั่งซื้อหรือผลิตสินค้า-บริการเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนของเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกันและเข้าไม่ถึงเงินกู้ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยมองว่าเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต่อไป สอดรับการฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิต ค้าส่ง การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงการของภาครัฐ เป็นต้น ทำให้เอสเอ็มอีในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
"แม้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนจีดีพีของประเทศกว่า 99% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย หรือมีจำนวนธุรกิจกว่า 3.1 ล้านแห่ง แต่ธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องเจอกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะความต้องการด้านเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ไม่ว่าการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ข้อกำหนดด้านเอกสารที่ซับซ้อน และกระบวนการขออนุมัติที่ยาวนาน ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันการเงินได้ ส่งผลให้ช่องว่างทางการเงินของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นกว่า 1.51 ล้านล้านบาท ทำให้หุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้งจึงเป็นทางเลือกที่เข้ามาช่วยเอสเอ็มอีให้ได้รับเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้"
สำหรับแผนงานในปี 2566 คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้ามาขอเงินระดมทุน 2 เท่าจากปีนี้ หรือกว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมกันนั้นบริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรใหม่เพิ่มเติม เช่น กลุ่มธนาคาร และสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อเข้ามาขยายผลิตภัณฑ์และบริการในวงกว้างมากขึ้น โดยมีแผนที่จะนำบัตรเครดิตสำหรับเอสเอ็มอีมาใช้ ซึ่งสามารถใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่เอสเอ็มอีได้ เช่นเดียวกับกลุ่มฟันดิ้ง โซไซตี้ ในสิงคโปร์ ได้เข้าซื้อกิจการการ์ดอัพ เป็นแพลตฟอร์มชำระเงินดิจิทัล ซึ่งบริการบ้ตรเครดิตดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจได้
อนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มฟันดิ้ง โซไซตี้ ดำเนินธุรกิจ 5 ประเทศในอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ได้ระดมทุนช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้วรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ผ่านหุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้ง คิดเป็นกว่า 80,000 ราย โดยได้รับเงินทุนจากนักลงทุนทั้งสิ้น 200,000 ราย ทั้งนี้ การออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้ง เป็นแหล่งเงินทุนให้เอสเอ็มอีรูปแบบใหม่ โดยมีฟันดิ้ง โซไซตี้เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ที่ต้องการลงทุน และผู้ที่ต้องเงินไปลงทุน โดยเมื่อเอสเอ็มอีมาติดต่อยื่นขอสินเชื่อ ทางฟันดิ้ง โซไซตี้จะออกตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้คราวฟันดิ้งให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำ 10,000 บาท โดยได้รับผลตอบแทน 9-15% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยที่เอสเอ็มอีต้องจ่ายอยู่ไม่เกิน 15% ต่อปีเช่นกัน โดยพิจารณาตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย