xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.70 ผันผวนในกรอบกว้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.80 บาท/ดอลลาร์ ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากขึ้นและแย่กว่าคาด ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.3 แสนราย รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานอย่างต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.67 ล้านราย ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมามั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปได้ไม่ไกลกว่าระดับ 5.00-5.25% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยมุมมองดังกล่าวได้ช่วยให้บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง และทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq กลับมาปรับตัวขึ้น +1.13% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.75%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบที่กว้าง (34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์) ตามที่เราได้ประเมินไว้ในต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ดี หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง หรือแกว่งตัว sideways เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองทั้งในฝั่งสินทรัพย์เสี่ยง บอนด์ รวมถึงสกุลเงินต่างๆ จนกว่าจะรับรู้ความชัดเจนของแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟดในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี ในวันนี้เรามองว่าควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่จะสะท้อนภาพเงินเฟ้อดังกล่าวไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวเราอาจเห็นเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น และอาจปรับตัวขึ้นเหนือโซนแนวต้านแถว 105 จุด (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY) ทั้งนี้ เราคงมองว่าเงินบาทจะไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าไปมากนัก โดยยังคงมองแนวต้านสำคัญในโซน 35.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยซื้อสุทธิบอนด์ไทย ทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ส่วนในฝั่งผู้ประกอบการ บรรดาผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมินไว้

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปเคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวลงเล็กน้อย -0.17% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยุโรปเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น เนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมของธนาคารกลางหลัก เช่น เฟด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทำให้ผู้เล่นในตลาดยุโรปเลือกที่จะปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้าง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวนด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML +1.0% Adyen +0.5%) หลังผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าในสัปดาห์หน้าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ (ขึ้นดอกเบี้ย +0.50% จากที่เคยขึ้นครั้งละ +0.75% ในการประชุมครั้งก่อนๆ) ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวบ้าง เพื่อรอลุ้นผลการประชุมของธนาคารกลางหลักในสัปดาห์หน้า ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +4bps สู่ระดับ 3.48% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยิลด์ระยะยาว อย่างบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเฟดเดือนธันวาคม (วันพฤหัสฯ หน้า) ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นรุนแรง และไม่น่าจะเห็นบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปสู่ระดับ 4.00% ทำให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวได้ ในจังหวะที่บอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่เสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.8 จุด (หลุดจากโซนแนวรับสำคัญที่ 105 จุด อีกครั้ง) ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถรีบาวนด์ขึ้นเล็กน้อยใกล้โซนแนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง ทว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ ราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านได้ ซึ่งเรามองว่าการรีบาวนด์ของราคาทองคำใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวอาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะสะท้อนสถานการณ์เงินเฟ้อ เช่น ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะสั้นและระยะยาว โดยในส่วนของ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) นั้นตลาดคาดว่าความต้องการสินค้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง ปัญหา Supply Chain ที่คลี่คลายลงไปมาก จะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าฝั่งผู้ผลิต โดย ดัชนี PPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 7.2% จาก 8.0% ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปในส่วนราคาสินค้า (Goods Inflation) มีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อในฝั่งการบริการ (Services Inflation) อาจยังคงอยู่ในระดับสูง หลังจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) เดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก และดัชนีราคาภาคการบริการยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 70 จุด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาวจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งเรามองว่า ต้องระวังในกรณีที่ดัชนี PPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือเงินเฟ้อคาดการณ์กลับเร่งตัวขึ้น อาจทำให้ตลาดพลิกกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้

ส่วนในฝั่งจีน ภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังคงซบเซาจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อทั่วไปของจีน (CPI Inflation) จะชะลอลงสู่ระดับ 1.6% ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจได้หากปราศจากแรงกดดันเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น