นายกสมาคมอาคารชุดไทย เตรียมหารือบอร์ดบีโอไอ ขอขยายเพดานราคาคอนโดฯ บีโอไอเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท จากปัจจุบันกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ด้าน “ประทีป ตั้งมติธรรม” ชี้รัฐต้องสร้างมาตรฐานให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่ดี คอนโดฯ บีโอไอจำเป็น
นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ทางสมาคมอาคารชุดไทย กำลังประสานงานไปยังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเข้าไปหารือถึงแนวทางในการขยายเพดานราคาของคอนโดฯ บีโอไอ ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดราคาขายของห้องชุดขนาดเริ่มต้น 24 ตารางเมตร (ตร.ม.) ไว้ไม่เกิน 1.2 ล้านบาทเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดกำหนดราคาขายไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะเสนอขอปรับราคาขายเพิ่มเป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ด้าน ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมอาคารมีมาตรฐานไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทางสมาคมอาคารชุดไทยควรคุย และนำสถิติของจริงมาแจงกันให้เห็น สำเนาทะเบียนบ้านเฉลี่ยแล้วกี่คนต่อห้องชุด ซึ่งจะมีผลต่อการจัดพื้นที่สีเขียวต่อผู้อยู่อาศัยต่อ 1 ตร.ม. ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินจริงไปเยอะ หรือแม้แต่ไปทำห้องชุด 35 ตร.ม.ก็อยู่กันเพียง 2 คน เกินไปเท่าตัว (กำหนดไว้ 3 คน) อันนี้ไม่เหมาะสม อยากให้สมาคมฯ คุยกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ควรแก้ไข เป็นการบังคับให้ทำซ้ำซ้อนกับการขออนุญาตปลูกสร้าง
ทั้งนี้ อาคารชุดเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อยขึ้นไปถึงผู้มีรายได้สูง เช่น โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ทำราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทได้ เนื่องจากได้รับอุดหนุนจากภาครัฐ ขณะที่ภาคเอกชนจะทำตั้งแต่รายได้ปานกลางไปจนถึงรายได้สูง
"อาคารชุดเคยได้รับการส่งเสริมบีโอไอเป็นบางช่วง ตรงนี้อยากให้สมาคมฯ คุยกับบีโอไอ ในการส่งเสริมเพื่อให้โอกาสคนสามารถซื้อได้ อาคารชุดมีตั้งแต่ราคาต่ำกว่าล้านบาทไปจนถึงหลายร้อยกว่าล้านบาท ตอบโจทย์ทุกคนของผู้มีรายได้ และเป็นอาคารชุดยอดนิยมที่ตอบโจทย์ทุกคนในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะถ้าเราไปดูสถิติ อาคารชุดมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมด แต่ถ้ามองเรื่องอุปสงค์ของการซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือ คนวัยเจริญพันธุ์ แต่งงาน และซื้อบ้าน บ้านนั้นคือ บ้านหลังแรกของชีวิต คนจะแต่งงานก็ซื้ออาคารชุด บางทำเลมีคนซื้อถึงร้อยละ 80 บางทำเลซื้อถึงร้อยละ 90 เพราะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และอีกประเด็น คือ อาคารชุดตอบสนองต่อกลุ่มคนรายได้น้อยได้ยากขึ้น เพราะการจะทำโครงการให้ผู้มีรายได้น้อยต้องทำกว่าล้านต้นๆ หรือ 1.2 ล้านบาทลงมา เดียวนี้ทำได้ยากขึ้น ต้นทุนที่ดินเพิ่มขึ้น ค่าก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างปรับขึ้น ค่าแรงเพิ่มขึ้น กฎหมายเข้มขึ้นตลอด การจะให้ผู้มีรายได้น้อยมีมาตรฐานการอยู่อาศัยที่ดีรัฐบาลต้องเข้ามาช่วย"