xs
xsm
sm
md
lg

เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้งลุยบริการวางแผนทรัพย์สินครอบครัว-ตั้งเป้ายอด 40% ของลูกค้ามั่งคั่งในปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ผู้นำบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวเจ้าแรกในไทย เผยความสำเร็จเติบโตต่อเนื่อง โดยมีฐานลูกค้าโตขึ้นกว่า 10% จากปีก่อนหน้า ปัจจุบันให้บริการลูกค้ารวมกว่า 4,000 รายหรือประมาณ 790 ครอบครัว ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว ทั้งธุรกิจและที่ดินกว่า 1.8 แสนล้านบาท* พร้อมยกระดับบริการ “สำนักงานครอบครัว” (Family Office) ขยายขอบเขตบริการจากการให้คำปรึกษาเพื่อจัดตั้งและจัดระบบสำนักงานครอบครัวสู่ผู้ช่วยดำเนินการกิจธุระของครอบครัว เช่น งานด้านกฎหมาย งานจดทะเบียนบริษัท ปั้นบริการสำนักงานครอบครัวครบวงจร เสริมแกร่ง “บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว” (Family Wealth Planning Services) ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา กำหนดกติกาและเป้าหมาย วางแผนงาน ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย
เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีหลายปัจจัยกระตุ้นให้การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งวิกฤตเงินเฟ้อ ความผันผวนของตลาดลงทุน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลอดจนนโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างสรรพากรไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ (FATCA) รวมถึงรัฐบาลชาติอื่นๆ ภายใต้ความตกลง Common Reporting Standard หรือ CRS ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูงเกิดความตื่นตัวในการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวและต้องการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านภาษีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มีมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 1 ไปรุ่นที่ 2 ปัจจุบัน เป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 2 ไปรุ่นที่ 3 หรือจากรุ่นที่ 3 ไปรุ่นที่ 4 มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การส่งต่อทรัพย์สินมีขั้นตอนและรายละเอียดที่มากขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่ากว่า 52% ของเจ้าของธุรกิจครอบครัวไทยเริ่มกลับมาพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว แต่มีเพียง 37% เท่านั้นที่เริ่มลงมือวางแผนแล้ว ช่องวางตรงนี้ทำให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวมีโอกาสดูแลลูกค้าในเรื่องนี้ได้มากขึ้นและเป็นการขยายขอบเขตการให้บริการตอบโจทย์ลูกค้าให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

"ทำไมบริการ Family Wealth Planning ถึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เพราะว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโลกเราถูกปกคลุมด้วยความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเราแบ่งความเสี่ยงนั้นเป็น 3 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านเฉพาะเจาะธุรกิจในแต่ละธุรกิจ และความเสี่ยงเชิงระบบที่ส่งผลต่อทุกธุรกิจ เช่น โควิด ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งต่างๆ ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเป็นความด้านนี้เป็นหลัก สอง ความเสี่ยงจากกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนไป เช่น ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างสรรพากรไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ (FATCA) ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น และสาม จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นในละแต่ครอบครัวทำให้มีความซับซ้อนในการจัดการมากขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างเหล่านี้ทำให้บริการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวเข้ามามีความสำคัญมากขึ้น" นายจิรวัฒน์ กล่าว

พร้อมกันนี้ KBank Private Banking ยังได้ยกระดับ พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ “สำนักงานครอบครัว” (Family Office) ภายใต้ “บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว” (Family Wealth Planning Service) โดยขยายขอบเขตการให้บริการจากการให้คำปรึกษาเพื่อจัดตั้งและจัดระบบสำนักงานครอบครัว สู่ผู้ช่วยดำเนินการกิจธุระของครอบครัวที่เน้นลงมือปฏิบัติภายใต้กรอบการให้บริการครอบคลุมทั้งหมด 6 ด้าน อันได้แก่ (1) งานจดทะเบียนที่ดิน (2) งานเอกสารกฎหมาย (3) งานจดทะเบียนบริษัท (4) งานติดตามทวงถามหนี้ (5) งานติดตามทรัพย์ (6) บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญ

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมบริการสำนักงานครอบครัว (Family Office) จะให้คำแนะนำในการจัดตั้งและดำเนินการของสำนักงานครอบครัวสำหรับลูกค้าที่ประสงค์จะดำเนินการเอง โดยภายหลังทางธนาคารได้เล็งเห็นความต้องการผู้ช่วยในการดำเนินการจัดการกิจธุระของครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องด้วยการจัดตั้งสำนักงานครอบครับนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งไม่เหมาะกับลูกค้าที่มีครอบครัวขนาดเล็ก หรือลูกค้าที่มีเรื่องต้องจัดการทรัพย์สินครอบครัวเป็นครั้งคราว จึงได้ขยายขอบเขตในการให้บริการ ยกระดับสู่การเป็นผู้ช่วยในการดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ตอบทุกโจทย์ความต้องการด้านทรัพย์สินครอบครัวได้อย่างครอบคลุมครบวงจร

"ตอนนี้ปัญหาที่ครอบครัวมั่งคั่งจะเข้ามาปรึกษามากๆ ช่วงนี้เป็นเรื่องภาษีที่มีเกณฑ์ใหม่ๆ ออกมา อย่างเรื่อง FATTA ที่จะบังคับให้มีการเปิดเผยทรัพย์สินที่นำไปไว้ที่ต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการเสียภาษีเพิ่ม ซึ่งทำให้ต้องมีการบริหารจัดการด้านภาษีเพิ่มเติมไม่ว่าลูกค้าจะนำทรัพย์สินกลับมาในไทย หรือยังเก็บไว้ที่เดิม ไปพร้อมกับดูแลเรื่องการบริหารจัดการด้านรายได้ต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางการบริการของเราในการดูแลใน 3 ด้านหลัก คือ การเก็บรักษา การสร้างการเติบโต และการส่งต่อ"

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีลูกค้าที่ไว้วางใจใช้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวกว่า 4,000 ราย หรือประมาณ 790 ครอบครัวโดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 10 และมีทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานกว่า 180,000 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งเป้าว่าจะให้บริการลูกค้าให้ครอบคลุม 40% ของลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งของธนาคารทั้งหมดภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่ให้บริการลูกค้าแล้วประมาณ 36%

"มาร์เกตไซส์ของตลาดนี้โดยประมาณคร่าวๆ จากจำนวนลูกค้าไพรเวทแบงกิ้งของธนาคารที่ 12,000 ราย คิดเป็น 40% ขอตลาด ดังนั้น ทั้งระบบจะประมาณ 25,000-30,000 ราย อันนี้เป็นจำนวนที่ควรจะเข้ามาใช้บริการ ไม่รวมกลุ่มลูกค้าวิสดอมที่น่าจะเข้าเกณฑ์ยังมีอีก และเราหวังว่านอกจากจะได้บริการกับลูกค้าของธนาคารแล้ว บริการนี้จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ดึงลูกค้ากลุ่มเวลธ์เข้ามาเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ให้ธนาคารอีกด้วย ซึ่งจากปัจจุบัน 900,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาทในปีหน้าก็มีโอกาสเป็นได้" นายจิรวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น