xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดแข็งค่าที่ 36.17 ผันผวนลุ้นเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.17 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นแรงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.94 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.30 บาท/ดอลลาร์ตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่น Amazon +12% Apple +8.9% Microsoft +8.2% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +7.35% ส่วนดัชนี S&P500 ก็พุ่งขึ้น +5.54% โดยแรงซื้อหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังรายงานข้อมูลเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core CPI ในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเพียง +0.3% จากเดือนก่อนหน้า น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ +0.5% และเป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐาน

นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจแนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดมองโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ในเดือนธันวาคมสูงถึง 90% ก่อนที่จะทยอยขึ้นเพียง +0.25% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป และมีโอกาส 50-50 ที่จะขึ้นไปถึงระดับ 5.25%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินอาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ จากแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเดินหน้าเข้าซื้อหุ้นไทย แต่ทว่า เราอยากให้ระมัดระวัง ความผันผวนที่อาจกลับมา หากรายงานข้อมูล GDP อังกฤษออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ตลาดยิ่งมั่นใจแนวโน้มการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ หลังจากที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิเคิลการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เงินบาทเข้าสู่ช่วง RSI Oversold (กราฟเงินบาทรายวัน) ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงและมีโอกาสเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้เร็ว หากปัจจัยมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นตามตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง หรือจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหลักอื่นๆ

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปพลิกกลับมาพุ่งขึ้นราว +2.75% ตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด จากรายงานเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้น Growth ต่างปรับตัวขึ้นแรง เช่น Adyen +13.4% ASML +9.7% Hermes +5.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสูงมาก หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงแรงกว่า -30bps สู่ระดับ 3.80% ซึ่งเรามองว่าการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมาอาจส่งผลให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวในฝั่งเอเชีย ปรับตัวลดลงได้บ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แม้ว่าเฟดอาจจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ตามคาด แต่ความไม่แน่นอนของจุดสูงสุดดอกเบี้ยนโยบายเฟด (Terminal Rate) อาจส่งผลให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวยังเคลื่อนไหวผันผวนและอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งเรามองว่าควรหาจังหวะที่บอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อ มากกว่าจะไล่ราคาในจังหวะที่บอนด์ยิลด์ลดลง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินท่ามกลางแนวโน้มเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และการปรับตัวลงแรงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงแรง -2.3% สู่ระดับ 108.2 จุด โดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงแรงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) พุ่งขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้านที่เคยประเมินไว้ สู่ระดับ 1,756 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นแรงของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรออกมา และน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว (เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำสูงถึง 85%)

สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ แม้ว่ารายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดจะชะลอตัวลงมากกว่าคาด แต่ผู้เล่นในตลาดอาจจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) รวมถึงคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้น 1 ปี และ ระยะปานกลาง 5 ปี จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment Survey) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ หลังผลการเลือกตั้งยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ในหลายรัฐที่คะแนนเสียงของทั้ง 2 พรรคมีความสูสีกัน และพรรคเดโมแครตทำผลงานได้ดีกว่าคาด

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่าปัญหาค่าครองชีพที่สูงจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษในเดือนกันยายนหดตัวต่อเนื่อง -0.4%m/m ทำให้ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจะหดตัวกว่า -0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนว่าเศรษฐกิจอังกฤษอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สอดคล้องกับการประเมินของ BOE ล่าสุดที่คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเริ่มในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ไปจนถึง ไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 โดยเศรษฐกิจอาจปรับตัวลงจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดราว -3% (ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจอาจดีกว่าการหดตัวเกือบ -7% ในช่วงวิกฤต GFC ปี 2008)
กำลังโหลดความคิดเห็น