xs
xsm
sm
md
lg

"เอเปกคลัง" ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม ปมขัดแย้ง "รัสเซีย-ยูเครน" เป็นเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อาคม" เผยการประชุมเอเปกคลัง ครั้งที่ 29 ไทยเป็นเจ้าภาพ ปมความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ขณะที่ประเด็นเศรษฐกิจห่วงเรื่องเงินเฟ้อ และหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น เตรียมรวบรวมเสนอที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ในเดือน พ.ย.นี้

วันนี้ (20 ต.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย ภายหลังประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก ครั้งที่ 29 (The 29th APEC Finance Ministers' Meeting : APEC FMM) ว่า ในการประชุมครั้งนี้ไม่สามารถออกเป็นแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปกได้ ออกได้เพียงแถลงการณ์ของประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก ครั้งที่ 29 เท่านั้น เนื่องจากในที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

สำหรับผลการประชุมในประเด็นด้านเศรษฐกิจและการบริหารการคลังนั้น มีความเห็นตรงกันในเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งจะมีการรวบรวมผลการหารือในครั้งนี้เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่ พ.ล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม เป็นประธาน และประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในเดือนพ.ย.นี้

โดยประเด็นด้านเศรษฐกิจในที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกัน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปก แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปก ได้แก่ ประเด็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อราคาพลังงาน ราคาอาหาร และประเด็นหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศต่างต้องกู้เงินเพื่อมาช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ หลังจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือต่างๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ เช่น การจัดการด้านภาษี การระดมทุนผ่านระบบดิจิทัล

4.การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกในการเสนอนโยบายที่จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การนำแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ โดยแต่ละเขตเศรษฐกิจได้เลือกประเด็นที่จะดำเนินการภายใต้เสาหลักของแผนปฏิบัติการเซบู ได้แก่ การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน การเร่งรัดการปฏิรูป และเพิ่มความโปร่งใสทางการคลัง การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และการเร่งรัดการลงทุนและการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

และ 5.ประเด็นอื่นๆ เช่น การบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินงานของเอเปก

สำหรับผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council) ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการให้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.การพัฒนาระบบข้อมูลเปิดที่เชื่อมโยงกัน (Inter-operable Open Data) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียน (Supply Chain Finance) เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 3.การส่งเสริมการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางที่เชื่อมโยงกัน เพื่อสนับสนุนให้มีสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการทำธุรกรรมด้านการเงินและด้านธุรกิจ

ส่วนการหารือทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ หัวหน้าคณะผู้แทนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือในประเด็นหลักเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปก รวมถึงการสนับสนุนในด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน และการดำเนินงานด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 สะท้อนความพยายามในการร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเปก และถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงรับทราบแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต”

สำหรับการประชุม APEC FMM ครั้งต่อไป สหรัฐอเมริกาจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.66


กำลังโหลดความคิดเห็น