นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงผลการดำเนินงานสำคัญของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในโอกาส สบน. ครบรอบ 20 ปีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาดังนี้
สู้วิกฤตสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก่อตั้งขึ้นในสภาวการณ์อันสืบเนื่องจากวิกฤตการเงินเอเชีย พ.ศ.2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) นับตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน สบน. ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ดูแลและตัดสินใจเกี่ยวกับการเงินของประเทศ (Chief Financial Officer : CFO) เดินทางผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศมาถึง 4 ครั้ง ได้แก่ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ และล่าสุด คือ วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
วิกฤตล่าสุด VS ความต้องการกู้เงินการระบาดของโรคอุบัติใหม่ (โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : COVID-19) ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลเกือบทุกประเทศทั่วโลกประกาศมาตรการล็อกดาวน์ (Lock Down) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจไทยหดตัวและถดถอยอย่างรุนแรง
สบน. มีบทบาทสำคัญในการระดมทุนจำนวนมากในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตการระบาดของ COVID-19 เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาสู่สภาวะปกติจึงทำให้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาความต้องการกู้เงิน (Funding Need) รวมของรัฐบาล ได้แก่ การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการกู้เงินตามปกติเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกู้เงินผ่านพระราชกำหนด COVID-19 อีกจำนวน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย จึงเห็นได้ว่าตัวเลขความต้องการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดและมากกว่าในสถานการณ์ปกติถึง 2 เท่า ทั้งนี้ นอกจากรัฐบาลไทยแล้ว รัฐบาลของประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย และมาเลเซียก็ได้ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อต่อสู้กับวิกฤตดังกล่าวโดยใช้เงินกู้เป็นเครื่องมือ หรือกลไกสำคัญเช่นกัน
ระดมทุนได้อย่างครบถ้วนจากเหตุการณ์และความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวข้างต้น สบน. จึงต้องวางแผนการบริหารหนี้สาธารณะอย่างรัดกุมและรอบคอบด้วยการจัดทำกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium Term Debt Management Strategy : MTDS) เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมทั้งกระจายการกู้เงินด้วยเครื่องมือหลากหลายเพื่อให้รัฐบาลสามารถระดมทุนได้ครบตามความต้องการ ควบคู่กับการดูแลปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาล (Bond Supply) ให้มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้การกู้เงินที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน และสร้างความผันผวนในตลาดการเงินและส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งจะเป็นภาระต้นทุนแก่ผู้ลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ ในเวลาเดียวกัน สบน. ได้ติดตามสภาวะตลาดการเงินและสื่อสารกับผู้ร่วมตลาดอย่างเป็นประจำผ่านการประชุม Market Dialogue เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนและนำมาปรับแผนการระดมทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดอย่างสม่ำเสมอ และประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้และตลาดการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สบน. สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการระดมทุนได้ครบตามแผนความต้องการใช้เงินของรัฐบาล และดูแลให้ตลาดสามารถรองรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว สบน. จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและรองรับการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤติอันเกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐพิจารณาสถานการณ์ความจำเป็นแล้ว ได้เห็นชอบการขยายกรอบเพดานจากเดิมร้อยละ 60 ซึ่งเป็นกรอบที่กำหนดขึ้นในช่วงภาวะปกติเป็นร้อยละ70 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดอย่างเหมาะสม เพื่อให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่สามารถรองรับกรณีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อดำเนินนโยบายการคลังและแผนพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
นอกจากนี้ สบน. ได้ปรับกลยุทธ์การระดมทุนโดยเน้นการใช้เครื่องมือการระดมทุนที่หลากหลาย (Diversification) เพิ่มเติมจากการออกพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นเครื่องมือหลัก ไปยังเครื่องมือระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำในสัดส่วนที่ยังคงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและด้านการปรับโครงสร้างหนี้ได้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนในตลาดที่ต้องการสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลลดลงจากร้อยละ 3.28 ในปีงบประมาณ 2562 เป็นร้อยละ 2.34 ในเดือนสิงหาคม 2565 นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งชิงสภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงิน (Crowding Out) กับ ธปท. และภาคเอกชน สบน. ได้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ทางการต่างประเทศที่เป็นเงินกู้พิเศษเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในสัดส่วนที่ยังคงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ รวมทั้งศึกษาเครื่องมือใหม่เพื่อรองรับความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงขึ้นและปัจจัยที่ไม่คาดคิดในอนาคต เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (1-3 ปี) เพื่อเพิ่มเครื่องมือการกู้เงินระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่
โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สบน. ได้กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. COVID-19 ทั้ง 2 ฉบับแล้วทั้งสิ้น 1.48 ล้านล้านบาท และเบิกจ่ายแล้วกว่า 1.38 ล้านล้านบาท
เสริมเศรษฐกิจ
สนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 10.31 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.7 ต่อ GDP และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ โดยหนี้สาธารณะคงค้างเกือบร้อยละ 70 เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเช่นเดียวกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
โดยเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณนำไปใช้ในการวางรากฐานการพัฒนาและเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ สำหรับหนี้สาธารณะคงค้างส่วนที่เหลือเกือบร้อยละ 30 ประกอบด้วย หนี้จากการตรากฎหมายพิเศษเมื่อประเทศเกิดวิกฤต หนี้รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ
สบน. เป็นแหล่งเงินที่สำคัญในการสนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสาขาต่างๆ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้งโครงการที่ช่วยเหลือสังคมอื่นๆ เช่น โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค (Kosen) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในสาขาต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะทยอยเปิดให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น โดยมีวงเงินกู้เพื่อการลงทุน (ไม่รวมเงินกู้ COVID-19) ช่วงปี 2563-2565 เฉลี่ยปีละประมาณ 881,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ปี 2562) ที่มีวงเงินกู้เพื่อการลงทุนประมาณ 652,000 ล้านบาท
พัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง
แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของ COVID-19
อย่างไรก็ดี ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สบน.ได้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ (Financial Innovation) ที่สำคัญ ดังนี้
- พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability
Bond)
สบน. ได้พัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, and Governance Bond: ESG Bond) ซึ่งเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ออกพันธบัตรในลักษณะนี้ และได้ทำการออก Sustainability Bond อย่างต่อเนื่อง จนมียอดคงค้างของพันธบัตรรวมอยู่ที่
247,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร และโครงการเพื่อสังคม ได้แก่ โครงการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งการออกพันธบัตรดังกล่าวอย่างต่อเนื่องช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ตลาด ESG Bond และขยายฐานนักลงทุนของรัฐบาล รวมทั้งทำให้ภาคเอกชนตระหนักถึงการดำเนินโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญของ สบน.
- ธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond
Switching)
สบน. ได้ดำเนินธุรกรรม Bond Switching ซึ่งเป็นธุรกรรมที่มีการดำเนินการเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรที่ครบกำหนดในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการกระจุกตัวของหนี้ที่จะครบกำหนด เพิ่มสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร ขยายฐานนักลงทุน รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการหนี้ของภาครัฐบาลให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 สบน. ได้ดำเนินธุรกรรม Bond Switching เป็นวงเงิน 133,277 ล้านบาท และ 90,000 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยดำเนินการทั้งรูปแบบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-switching) และผ่านตัวกลาง (Syndication) ซึ่งการดำเนินธุรกรรม Bond Switching ทั้ง 2 ปีดังกล่าว
สามารถลดการกระจุกตัวและยอดคงค้างของหนี้ที่จะครบกำหนด กระจายหนี้ไปเป็นพันธบัตรระยะกลางและยาว ตลอดจนยืดอายุเฉลี่ยของพันธบัตรต้นทางจาก 1 ปี 1 เดือน เป็น 15 ปี 11 เดือน และ 1 ปี 3 เดือน เป็น 9 ปี 10 เดือน ตามลำดับ ซึ่งช่วยบริหารจัดการพอร์ตหนี้รัฐบาลให้เหมาะสมได้เป็นอย่างดี
- พันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond)
สบน.ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาเพิ่มบทบาทและช่องทางในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายพันธบัตรออมทรัพย์ นอกเหนือจากการจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย เพื่อสนับสนุนการให้ความรู้และส่งเสริมการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัลซึ่งธุรกรรมมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนทุกระดับรายได้ทั่วประเทศ (Financial Inclusion) นอกจากนี้ ยังเป็นการพลิกโฉมการลงทุนโดยลดมูลค่าหน่วยลงทุนจากหน่วยละ 1,000 บาท เหลือหน่วยละ 1 บาท เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและเป็นเจ้าของพันธบัตรออมทรัพย์ได้อย่างเท่าเทียม และตอบโจทย์ความต้องการลงทุนของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน สบน. ได้จำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านรูปแบบวอลเล็ต สบม. แล้วกว่า 40,200 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทุนกว่า 44,000 ราย กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และกระจายไปทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุ 25-49 ปี
นอกจากนี้ สบน. มุ่งมั่นพัฒนารูปแบบการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคม 2565 สบน. ร่วมกับ ธปท. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายพัฒนาการจัดสรรพันธบัตรแบบ Small Lot First เป็นครั้งแรก เพื่อกระจายพันธบัตรออมทรัพย์ให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ภายใต้สภาวะตลาดที่ผันผวนที่มีความต้องการถือครองสูงขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยสามารถกระจายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านรูปแบบ Small Lot First ให้ประชาชนได้มากเกือบ 15,000 ราย และมีแผนปรับรูปแบบการจำหน่ายให้เป็นระบบและเป็นอัตโนมัติมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอนและกระบวนงานให้มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ผู้ลงทุนในอนาคต อีกทั้งได้พัฒนาวอลเล็ต สบม. อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดการซื้อขายตลาดรอง (Secondary Trading) ผ่านวอลเล็ต สบม. เพื่อเพิ่มสภาพคล่องตราสารให้สามารถเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการยื่นแบบเพื่อขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตโนมัติ กรณีซื้อพันธบัตรในวอลเล็ต สบม. รวมถึงการแสดงข้อมูลการถือครองพันธบัตรออมทรัพย์ในทุกช่องทางของผู้ลงทุน เพื่อตอบโจทย์การวางแผนการออมก่อนเกษียณอายุในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเทศไทยได้อะไรจากเงินกู้
COVID-19
สำหรับประเมินผลการใช้จ่ายเงินโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท รอบที่ 1 (วงเงินประมาณ 805,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.95 ของกรอบวงเงินกู้) โดยใช้กรอบแนวคิดการประเมินผลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พบว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก (A) สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.65 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุดถึง 513,000 ล้านบาท โดยแต่ละแผนงานมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
1) แผนงานด้านสาธารณสุข พบว่า สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนที่ติดเชื้อ COVID-19 ประมาณ 27,000 ล้านบาท เช่น อาสาสมัครชุมชน ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยติดเชื้อ ตลอดจนสามารถสนับสนุนวัคซีน อุปกรณ์ ครุภัณฑ์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจประสิทธิภาพสูงแก่ประชาชนและสถานพยาบาลทั่วประเทศ
2) แผนงานด้านการช่วยเหลือและเยียวยา
พบว่า สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐประมาณ 405,000 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ เช่น ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราชนะ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับการเพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 และเกษตรกร
3 แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม พบว่า สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 556,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุดประมาณ 107,000 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับประโยชน์มากมาย เช่น ร้านค้า ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้ดีขึ้น และส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดย ACI Worldwide และ CEBR ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการวิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระดับสากลได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก เรื่อง E-Payment Transaction
สร้างรากฐาน สบน. ดิจิทัล
สบน. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารหนี้สาธารณะโดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ (Digital Transformation) และพัฒนาระบบบริหารหนี้สาธารณะใหม่ (Public Debt Management : PDM) เพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลหนี้สาธารณะของประเทศไทยมีความถูกต้อง (Accuracy) ครบถ้วน รวมทั้งสามารถจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะที่ยังสามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ในระดับมาตรฐาน ตลอดจนรองรับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับระบบอื่นทั้งภายในและภายนอก สบน. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับโครงการบูรณาการฐานข้อมูลหนี้สาธารณะ (Data Synchronization) เพื่อรองรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนระยะเวลาของการทำงาน และความผิดพลาดในการทำงาน (Human Error) โดยจะทำให้มีฐานข้อมูลหนี้สาธารณะที่ถูกต้อง
ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สบน. มุ่งเน้นการปฏิบัติงานบน Digital Platform อย่างต่อเนื่อง โดยระยะต่อไปจะพัฒนาระบบการประมูล เช่น การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ในรูปแบบตราสารอิเล็กทรอนิกส์ และงานทะเบียน PN โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ (Digital Transformation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาเงินกู้ เพิ่มความปลอดภัยการบริหารจัดการฐานข้อมูลและงานทะเบียน เพิ่มสภาพคล่องให้ PN ในตลาดการเงิน อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน สร้างความมั่นใจในการลงทุน และอาจส่งผลต่อต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง
สนับสนุนการลงทุนและนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
สบน. จะสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขีดความสามารถของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะ 5 ปี (2566-2570) สบน. มีแผนการกู้เงินเพื่อการลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ สาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมกว่า 898,000 ล้านบาท โดยการใช้กลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลางและเครื่องมือการกู้เงินหลากหลาย (Diversified Instrument) เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะอยู่ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศว่าการบริหารหนี้สาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง อีกทั้งได้พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ร่วมกับ ธปท. เพื่อใช้การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และเพื่อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมของกระบวนการทำงานและรองรับการเปลี่ยนผ่านในการใช้อัตราดอกเบี้ย THOR ในอนาค ในระยะต่อไป สบน. จะยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะผลักดันให้มีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเข้ามามีบทบาทในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ยกระดับให้ประชาชนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการออก Green Bond, Social Bond, Sustainability Bond หรือ ESG Bond ในรูปแบบต่างๆ ต่อไป
สำหรับกลยุทธ์การพัฒนา Sustainability Bond ของกระทรวงการคลัง สบน. จะดำเนินการเพิ่มยอดคงค้างให้ Sustainability Bond อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสภาพคล่องในตลาดรองที่เพียงพอและสามารถรองรับความต้องการระดมทุนของรัฐบาลได้ พร้อมทั้งจะวางแผนปรับปรุงกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Kingdom of Thailand Sustainable Financing Framework : KOT Framework) เพื่อให้ครอบคลุมหมวดหมู่โครงการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มสหประชาชาติ (United NationsSustainable Development Goals : UNSDGs) และสามารถรองรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้หลากหลายมิติยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันประเทศไทยให้บรรลุ UNSDGs ทั้ง 17 ด้าน ในการมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ดำเนินการเชิงรุกร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ
สำหรับการกู้เงินต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างสมดุลระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม สบน. จะเร่งดำเนินการร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank, ADB, JICA, EIB, AFD และ AIIB ในการนำแนวทางการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Impact) ตลอดจนแนวทางการบรรเทาผลกระทบต่างๆ (Mitigation Measures) มาประยุกต์ใช้กับโครงการเงินกู้ต่างประเทศ เพื่อพัฒนาแนวทางการระดมทุนจากต่างประเทศให้เกิดความอย่างยั่งยืน
(Sustainable Finance) ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการในการจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะขอใช้เงินกู้ต่างประเทศ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อผลักดันให้มีโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นไปตามแนวการพัฒนา ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model) พ.ศ.2564-2569
อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศยังอยู่ในระดับน่าลงทุน
สบน.ยังให้ความสำคัญกับการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักถูกต้อง ครบถ้วน ตรงเวลา และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง จึงทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล (Credit Rating Agency) เช่น Moody’s S&P และ Fitch เชื่อมั่นและกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยมีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง มีความสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง (High Debt Affordability) และคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับ BBB+/Baa1 ซึ่งอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ท่ามกลางวิกฤต ขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
รางวัลแห่งความสำเร็จ
สบน.ได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อยืนยันความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เช่น รางวัล Sovereign Green Market Pioneer ในฐานะผู้บุกเบิกตลาดพันธบัตรสีเขียวของภาครัฐ จากการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน จาก Climate Bonds Initiative และ 3 รางวัลจากนิตยสาร The Asset คือ รางวัล Thailand’s Best Sustainable Bond และรางวัล Thailand’s Best Issuer for Sustainable Finance ในการจัดอันดับ Triple A Country Awards 2020 และรางวัล Best Sustainable Bond ระดับภูมิภาค ในการจัดอันดับ Deals of the Year - Triple A Sustainable Capital Markets Regional Awards 2020 และอีก 1 รางวัลจากนิตยสาร International Review Asia ได้แก่ รางวัล Roll of Honour สาขา Regional Awards : Domestic Bond
นอกจากนี้ ในปี 2564 สบน. ยังได้รับรางวัลมากมาย ได้แก่ 1) รางวัลประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA Award) ได้รับการประเมินระดับ AA (97.45 คะแนน) ซึ่งมีผลประเมินสูงที่สุดในกระทรวงการคลัง 2) รางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลประกาศเกียรติคุณด้านปลอดความรับผิดทางละเมิด “ระดับดีเด่น” และรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศรายด้านปลอดความรับผิดทางละเมิด และ 3) รางวัลเพชรวายุภักษ์ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล “ชนะเลิศ ระดับ Diamond” จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ประเภทผลงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ “การลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ด้วยวอลเล็ต สบม. สะดวก เข้าถึงง่าย ได้ความมั่งคั่ง” และประเภทผลงานการขยายผลต่อยอดนวัตกรรม “การพัฒนาแบบจำลองการบริหารความเสี่ยงหนี้สาธารณะเพื่อใช้ในสำนักงาน” (In-house Risk Model for Public Debt Management) และรางวัล “ชนะเลิศระดับ Silver” ประเภทแนวคิดกระบวนการทำงานใหม่ “ระบบสารสนเทศเพื่อจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (ระบบ DD Plan)
บทสรุป
ตลอดระยะเวลา 20 ปี สบน.ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังและรอบคอบ ทั้งในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจปกติและช่วงวิกฤต เพื่อดูแลหนี้สาธารณะของประเทศและรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี การกู้เงินของรัฐบาลแม้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยกระจายความเจริญไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ในระดับดี สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากลยังชื่นชมที่ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการทางการเงินการคลังได้ดีท่ามกลางภาวะวิกฤต โดยได้แสดงออกถึงความเชื่อมั่นและความมีเสถียรภาพ ตลอดจนความโปร่งใสของฐานะการเงินการคลังของประเทศแม้ต้องเผชิญกับวิกฤต
สบน. มุ่งเน้นการปฏิบัติงานบน Digital
Platform โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และบริหารหนี้สาธารณะทุกมิติ ตั้งแต่การวางแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ตลอดจนกระบวนการกู้เงิน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ตลอดจนนำไปใช้วิเคราะห์และจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งแสดงความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล (Good Governance) ในกระบวนการจัดหาเงินกู้และภาพรวมการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ
อย่างไรก็ดี การบริหารหนี้สาธารณะของ สบน.ในระยะต่อไปยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น 1) สภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง สบน. ต้องประสานงานกับ ธปท. อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินให้เพียงพอสำหรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์การระดมทุนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป โดยเน้นกระจายเครื่องมือการกู้เงินพร้อมกับยืดอายุเครื่องมือในการระดมทุน เพื่อรองรับความผันผวนและผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทน (Yield) ในประเทศในอนาคต พร้อมกับทยอยปรับโครงสร้างหนี้และชำระหนี้ล่วงหน้า (Prepayment) ตลอดจนดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการกระจุกตัวของหนี้และลดความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้และความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยของพอร์ตหนี้ของรัฐบาล และผลกระทบต่อตลาดการเงินในประเทศ และ 2) การของบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐเพิ่มเพื่อให้พอเพียงและสอดรับกับภาระหนี้
ที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณสำหรับภาระดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลและเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
สุดท้าย ขอเน้นย้ำว่าการกู้เงินของรัฐบาลหรือการก่อหนี้สาธารณะยังคงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ สบน. ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุนและดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งชำระหนี้อย่างเคร่งครัด และครบถ้วนตามกรอบวินัยทางการคลัง และไม่ว่าในอนาคตประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์ใด สบน.ก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างคนไทย เพื่อเป็นเสาหลักในด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศต่อไป