นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 37.30 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.20-37.40 บาท/ดอลลาร์ โดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนกันยายน ที่ระดับ 208,000 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกันยายน ที่ระดับ 56.7 จุด สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการได้กลับมากดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์อย่างรวดเร็วของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลงไม่น้อยกว่า -1.5% ในช่วงแรกของการซื้อขาย ก่อนที่จะรีบาวนด์ขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +4.0%) หลังกลุ่ม OPEC+ มีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 2% ของอุปทานน้ำมันดิบทั้งหมด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการกลับเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ ในจังหวะย่อตัว ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.20%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่าเงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 37.30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลในฝั่งตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบปรับสถานะถือครองก่อนที่จะรับรู้ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) รวมถึงการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ในวันศุกร์นี้
อนึ่ง ในช่วงนี้แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทอาจเริ่มลดลงได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น หลังจากหุ้นไทยได้ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา จน Forward P/E ลดลงเหลือ 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้หุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นในแง่ของระดับราคาและแนวโน้มผลประกอบการที่อาจดีขึ้นตามโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เราเริ่มเห็นแรงซื้อบอนด์ของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะในบอนด์ระยะยาว หลังบอนด์ยิลด์ระยะยาวได้ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ใหม่ (LB336A) ที่ความต้องการยังอยู่ในระดับสูง (Bid Coverage Ratio 2.08 เท่า) สะท้อนภาพการรอจังหวะยิลด์ปรับตัวขึ้นเพื่อเข้าซื้อของผู้เล่นในตลาดได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวลดลง -1.02% กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป เช่น ดัชนี PMI ภาคผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในเดือนกันยายนที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานบ้าง (BP +1.3% TotalEnergies +1.1%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ กอปรกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอีกครั้งสู่ระดับ 3.75% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยิลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้แย่ลงชัดเจน ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ระยะยาวที่ผ่านมา ทำให้บอนด์ระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้น และคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจทยอยเพิ่มสถานะการถือครองบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงมากขึ้นและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 111.2 จุด หนุนโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนต่อ อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงต่อเนื่องจากแรงขายทำกำไร ก่อนที่จะรีบาวนด์ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1,726 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราประเมินว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากข้อมูลที่จะมีการรายงานในวันศุกร์นี้ก่อน
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปยังคงไม่สดใสนัก โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยูโรโซน ในเดือนสิงหาคมอาจหดตัว -0.4% จากเดือนก่อนหน้า กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลให้ค่าครองชีพเร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) เพื่อประเมินภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยหากยอดดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับ 2 แสนราย ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จะยังคงสะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ นั้นยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งอาจทำให้เฟดยังไม่สามารถเปลี่ยนใจมาชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ในเร็วนี้