น ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องและค่อนข้างแรงหลังจากที่ กนง. ประกาศมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากในช่วงก่อนประกาศผลประชุมที่ระดับ 38.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไหลลงต่อเนื่องที่ระดับ 38.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงใกล้ปิดตลาด โดยมองแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐในขณะนี้ยังคงมีปัจจัยหนุนในทางแข็งค่า ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เศรษฐกิจโลกถดถอย วิกฤตพลังงานในยุโรป จึงยังกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าอยู่ โดยมองกรอบเงินบาทในช่วงไตรมาส 4 ที่ 37-39.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"แบงก์ชาติเองคงเข้ามาดูแลเป็นช่วงๆ เพื่อลดความผันผวน แต่ไม่ใช่การเข้าไปฝืนเพราะเป็นทิศทางของทั้งภูมิภาค ทุกตลาดทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารโดนขายหมด แล้วยังมีสกุลเงินที่อ่อนค่ากว่าเรา ซึ่งตามที่แบงก์ชาติแถลงมาค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค"
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลการประชุม กนง.ที่ออกมาในครั้งล่าสุดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.25% จากครั้งที่ผ่านมายังมีเสียงแตกที่เห็นควรให้ปร้บขึ้นอัตรา 0.50% แต่อย่างไรก็ตาม จากถ้อยแถลงที่ออกมาเห็นถึงความชัดเจนที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งจะทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ โดยมองกรอบในเบื้องต้นที่ 38.50-38.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"มติของ กนง.ในครั้งนี้ถือว่าเซอร์ไพรส์ตลาดอยู่พอสมควรกับมติที่เป็นเอกฉันท์ จากเดิมที่มีคณะกรรมการที่เห็นต่าง ซึ่งแสดงความชัดเจนอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันที่ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การดูแลเงินบาทคงจะบริหารจัดการดูแลด้านความผันผวนเป็นหลัก ดังนั้น แนวโน้มเงินบาทจึงอ่อนค่าลง โดยในเบื้องต้นมองที่ 38.50-38.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่จะไปถึงไหนนั้น ณ 39 บาทก็ไปได้ แต่ต้องดูปัจจัยประกอบอื่นๆ ที่จะหนุนฝั่งดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นด้วย"