นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทในช่วงนี้ ยังคงมีทิศทางอ่อนค่าและมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยปัจจัยหลักๆ มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่สูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และยังส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้นต่อไปเพื่อกดเงินเฟ้อให้ลดลงยู่ในระดับ 2% ส่งผลให้ค่าเงินของเกือบทุกประเทศทั่วโลกอ่อนค่าลง ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงนับแต่ต้นปีคิดเป็น 10.6% ซึ่งสอดคล้องกับค่าเงินอื่นในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ประเมินค่าเงินบาทในช่วง 1 เดือนข้างหน้านี้ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง และมีโอกาสทดสอบที่ระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากหลายปัจจัยที่ยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่า ทั้งแนวนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด รวมถึงความกังวลปัญหาพลังงานของยูโรโซนอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงเป้าหมายเงินบาทในช่วงปลายปีนี้เคลื่อนไหวระดับ 35-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลต่อเนื่องให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศดีขึ้น และรอประเมินท่าทีการปรับนโยบายของเฟดหลังตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญออกมาบ่งชี้ถึงการถดถอยของเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น
"การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่แข็งกร้าวของเฟดได้ลากเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ให้ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยปัจจุบันค่าเงินทั่วโลกถูกขับเคลื่อนโดยเฟด ซึ่งเรามองว่าหากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาในทิศทางถดถอยชัดเจนเฟดอาจจะเปลี่ยนท่าทีลดความแข็งกร้าวลง เหมือนกับในช่วง 7 เดือนก่อนที่เคยมองว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องชั่วคราวก็ได้ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว จะส่งผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดให้กลับมาเกินดุลหรือขาดดุลน้อยลง จึงทำให้ยังคงเป้าหมายเงินบาท ณ สิ้นปีที่ 35 บาทไว้ก่อน ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในการประชุมสัปดาห์หน้าอาจจะช่วยลดความกดดันในทางอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง แต่ความผันผวนจะยังมีอยู่"
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์นั้น คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 0.25% และปรับขึ้นอีกในอัตราเดียวกันในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี รวมเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันการอ่อนค่าของเงินบาทที่จะส่งผลต่อการนำเข้าต้นทุนพลังงานและนำไปสู่ต้นทุนของธุรกิจ-ค่าครองชีพต่อไปได้
"เรามองการ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.25% แม้ว่าจะน้อยกว่าที่เฟดขึ้น แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับบริบทของเศรษฐกิจแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความสุ่มเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่เติบโตในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพอยู่ถึง 5% แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเรื่มกลับมา แต่คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีจึงจะกลับไปช่วงก่อนเกิดโควิด ดังนั้น เชื่อว่าแบงก์ชาติจะยังคงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่"