น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะชะลอตัวลง เป็นผลจากการปรับขึ้นอ้ตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจในอัตราที่สูงและยังมีสัญญาณว่าจะยังปรับขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยสูงขึ้น ขณะที่กดดันให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
โดยในระยะต่อไปเราคงต้องมองอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ สหรัฐฯ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อกับตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ เพื่อเป็นทิศทางว่าน้ำหนักของเฟดจะไปทางไหน ซึ่งหากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีความแข็งกร้าว มีการคาดว่าจะไปถึง 5% ในปีหน้าได้ ขณะที่ทางยุโรปมีเรื่องวิกฤตพลังงานอีกด้วย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอียูจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงไตรมาส 4 ถึงต้นปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจีดีพีไทยเติบโตที่ 2.9% แม้จะมีการปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 9.75 ล้านคน จากเดิมที่ 7.2 ล้านคน และภาคการบริโภคเอกชนจะดีกว่าคาด แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงจะกระทบต่อค่าครองชีพ รวมถึงการส่งออกที่เริ่มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และประมาณการจีดีพีในปีหน้าที่ระดับ 3.2-4.2% ในสมมติฐานที่เศรษฐกิจโลกไม่ชะลอตัวลงแรง และภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ด้านการประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้นั้น คาดการณ์คณะกรรมการมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งจะต้องดูว่าหากเป็นตามคาดจะกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างไร หากอ่อนค่าต่อทางคณะกรรมการน่าจะมีการเตรียมเครื่องมือต่างๆ ที่จะเข้ามารองรับผลที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าเดิมเพื่อลดช่องหว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นไป 3.2% ขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มขึ้นดอกเบี้ย
"การอ่อนค่าของเงินบาทในปัจจุบันกับปี 2540 ที่อ่อนค่าไปถึง 40 บาทเกือบแตะ 50 บาทนั้น แตกต่างกันทั้งในเรื่องของระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ต่างกัน ขณะที่การเข้าไปดูแลต่างกันจากครั้งก่อนเป็นการต่อสู้ค่าเงิน แต่ปัจจุบันเป็นการเข้าไปดูแลด้านเสถียรภาพเพื่อไม่ให้อ่อนค่าลงรวดเร็ว รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของประเทศก็แตกต่างกัน ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลไม่เกิดจากการเป็นหนี้ต่างประเทศ และหากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นในปลายปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะกลับมาเกินดุลได้"
น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หาก กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้จะเป็นสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงการที่ ธปท.จะมีการปรับอ้ตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูของธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ระดับเดิมที่ 0.46% ของเงินฝากซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของธนาคาร ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามทั้งในฝั่งของเงินกู้และเงินฝากในกรอบ 0.125-0.25% แต่ระยะเวลาและอัตราในการปรับขึ้นจะขึ้นอยู่โครงสร้างต้นทุนและธุรกิจของแต่ละแห่ง ซึ่งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว สิ่งที่ธนาคารจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดขึ้นคือคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ จำนำทะเบียนรถ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนอาจจะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.เองได้มีมาตรการเข้าช่วยตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงลึกมากขึ้นที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป จากปัจจุบันที่มีจำนวนลูกหนี้ในโครงการเหลืออยู่ 12.6% รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีการขายเอ็นพีแอลให้ AMC ได้บางส่วนด้วย
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการณ์เอ็นพีแอลในระยะต่อไปที่ทรงต้วหรือเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 2.88% และมองกรอบที่ 2.9-3.1% ในสิ้นปีหน้า รวมถึงสัดส่วนเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญอาจจะไม่ลดลงมากนัก ส่วนในฝั่งสินเชื่อในปีหน้า มองทิศทางที่ดีขึ้นโดยคาดอัตราการเติบโตที่ 4.5-6% เป็นส่วนสินเชื่อธุรกิจเติบโต 5.0-6.3% สินเชื่อรายย่อยเติบโต 3.5-4.7% แบ่งเป็นสินเชื่อบ้านเติบโต 3-4% สินเชื่อเช่าซื้อเติบโต 2.2-3.0% สินเชื่อบัตรเครดิตเติบโต 6.7-9.0% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่น-สินเชื่อบุคคลเติบโต 5.3-6.7%
น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงหากจะมองว่าเป็นผลดีภาคส่งออกของไทยนั้นมีส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาในด้านการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบด้านลบมากเป็นกลุ่มที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามามากแต่จำหน่ายในเมืองไทย เช่น เกษตร ไฟฟ้า ก่อสร้าง