ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) เผยจากมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเดือนสิงหาคม 2022 อยู่ที่ 23,632 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เร่งตัวขึ้นจาก 4.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่เป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกหักทองคำในเดือนนี้ที่ขยายตัว 7.4%YOY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่ 4.7%YOY โดยหากพิจารณาการส่งออกเดือนสิงหาคมเทียบกับเดือนกรกฎาคม (แบบปรับฤดูกาล) พบว่า หดตัวที่ -4.1%MOM_sa ในภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 ขยายตัวได้ดีที่ 11% และ 9.4% หากไม่รวมทองคำ
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกรายตลาดมีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น จาก (1) มูลค่าการส่งออกไปจีนหดตัว -20.1% ในเดือนนี้ นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อีกทั้ง ยังหดตัว -3.5%MOM_sa สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้ารวมของจีนในเดือนสิงหาคมที่ทรงตัว 0.3%YOY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 1.1% (Bloomberg consensus) โดยมูลค่าการนำเข้าของจีนจากไทยที่หดตัวสูงสุดในรอบ 31 เดือนที่ -21.3% และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนที่ลดลงต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้ง โดยสินค้าฉุดการส่งออกไปจีนที่สำคัญในเดือนนี้ เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
(2) การส่งออกไปฮ่องกง แม้จะหดตัว -18.1% แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -31.3%
(3) การส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป (EU28) ขยายตัวได้ทั้ง %YOY และ %MOM_sa ในเดือนนี้ แต่ในภาพรวมยังถือว่าเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูง และการส่งออกอาจชะลอลงในระยะถัดไป
และ (4) การส่งออกไป CLMV และ ASEAN5 แม้ยังขยายตัวได้ดีที่ 41.1% และ 5.8% ตามลำดับ แต่หดตัว -0.6%MOM_sa และ -7.9%MOM_sa ตามลำดับ โดยสรุปถึงแม้ภาพรวมการส่งออกรายตลาดจะขยายตัวได้ในหลายตลาดสำคัญ แต่หากพิจารณาปัจจัยฐานด้วยแล้ว กลับพบสัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกที่ชัดเจนมากขึ้น
ด้านการนำเข้าชะลอตัวลงเล็กน้อย ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่อง โดยมูลค่านำเข้าในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 27,848.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะขยายตัว 21.3% ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ 23.9% หรือขยายตัว 1.7%MOM_sa โดยในเดือนสิงหาคม การนำเข้าขยายตัวในทุกหมวดสำคัญ นำโดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่ยังคงขยายตัวสูงที่ 77.4% ยกเว้นหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่หดตัว -4.5% ในภาพรวมของเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกที่ทรงตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าที่ยังขยายตัวสูง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนนี้ขาดดุล -4,215.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 21.4%
และดุลการค้าขาดดุล -14,131.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยสรุป EIC SCB คาดการส่งออกไทยขยายตัวต่ำที่ 2.5% ในปี 2023 จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยแม้การส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีขยายตัวได้ดี แต่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม โดย EIC ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2022 และปี 2023 จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เผชิญแรงกดดันหลายทาง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น นโยบาย Zero-covid ที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ ภัยแล้ง รวมถึงอุปสงค์จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งตลาดสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินตึงตัวแรง อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่ผันผวนและมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าที่ประเมินไว้เดิม อาจเป็นแรงสนับสนุนให้การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ดังนั้น EIC จึงปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทย (ในระบบดุลการชำระเงิน) ของปี 2022 เป็น 6.3% (จากเดิมที่ประเมินไว้ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ 5.8%) และสำหรับปี 2023 EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 2.5% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเงินเฟ้อโลกสูง ซึ่งมีส่วนกดดันกำลังซื้อและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลักของไทย อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่าการขยายตัวของส่งออกไทยในปี 2023 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก ในขณะที่ปัจจัยด้านปริมาณจะหดตัวลงจากผลกระทบเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว