xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันร่วง $3 ทองต่ำสุดรอบ 2 ปี หุ้นสหรัฐฯ ลงกังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาน้ำมันร่วงลง 3% ในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) แตะระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหมายอุปทานโลกอ่อนแอและดอลลาร์แข็งค่า ปัจจัยหลังนี้ฉุดทองคำขยับลงต่อเนื่อง ขณะที่วอลล์สตรีทปิดลบ หลังชุดช้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังคงสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุก

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนตุลาคม ลดลง 3.38 ดอลลาร์ ปิดที่ 85.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 3.26 ดอลลาร์ ปิดที่ 90.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความเสี่ยงแง่ลบยังคงปกคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความคาดหมายว่าบางประเทศจะดิ่งสู่ภาวะถดถอยในปี 2023 อย่างไรก็ตาม มันเร็วเกินไปที่่จะชี้ชัดว่าทั่วโลกจะเกิดภาวะถดถอยในวงกว้างหรือไม่ จากความเห็นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

อินเดอร์มิต จิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะ stagflation โดยทั่วไป (ภาวะที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงขึ้น) ในเศรษฐกิจโลก เน้นย้ำสิ่งที่ธนาคารแห่งนี้เคยคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงเกือบๆ 3 ใน 4 เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นยังกัดเซาะอุปทานน้ำมัน เนื่องจากมันทำให้เชื้อเพลิงมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือเงินสกุลอื่นๆ และปัจจัยนี้เองที่ฉุดใหราคาทองคำแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 31.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,677.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) ปิดลบแรง จากชุดข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งคงไม่อาจทำให้เฟดปรับเปลี่ยนเส้นทางของการปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุก แม้มีสัญญาณเตือนรุนแรงขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกถดถอย

ดาวโจนส์ ลดลง 173.27 จุด (0.56 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 30,961.82 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 44.66 จุด (1.13 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,901.35 จุด แนสแดค ลดลง 167.32 จุด (1.43 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 11,552.36 จุด

ชุดข้อมูลทางเศรษฐกิจนำโดยยอดค้าปลีกที่ดีเกินคาด เน้นย้ำความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อีกครั้ง ในที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า

นอกเหนือจากตัวเลขค้าปลีกที่น่าประหลาดใจ ยอดผู้เข้ารับสวัสดิการคนว่างงานรายใหม่ที่ลดลงยังตอกย้ำถึงความเข้มแข็งของตลาดแรงงาน และดัชนีราคานำเข้าที่ลดลงสนับสนุนความคิดที่ว่าภาวะเงินเฟ้อผ่านจุดพีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงและการหดตัวในภาคการผลิตของภูมิภาคแอตแลนติก ได้ก่อมุมมองในแง่ร้ายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น