xs
xsm
sm
md
lg

HMPRO รายได้-กำไรเติบโต ฐานเงินแกร่ง-หลายปัจจัยหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการ “โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์” ทั้งการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นปลายปี และแรงหนุนจากน้ำท่วมช่วยเร่งการซื้อวัสดุก่อสร้าง ภาพรวมรายได้-กำไรเติบโตต่อเนื่อง สถานการณ์การเงินแข็งแกร่ง กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ คาดมีลุ้นทั้งปีกำไรเติบโต 15%

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับแรงกดดันจากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% และเน้นย้ำการใช้นโยบายที่ยังตึงตัว โดยคาดว่าเฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้อีก 1.25% ไปแตะระดับ 4.25-4.5% ในช่วงปลายปี ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเคลื่อนย้ายไปยังฝั่งของดอลลาร์จนแข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินในหลายประเทศอยู่ในโทนอ่อนค่า

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาพของตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นภาพของการพักตัว แต่ข้อดีของตลาดหุ้นไทย คือ การพักตัวค่อนข้างที่จะแข็งแกร่ง โดยปัจจัยที่หนุนคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาพเศรษฐกิจ และการประเมินมูลค่า (valuation) ในส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย (earning yield) ค่อนข้างกว้างกว่า จากประเด็นเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงไม่รุนแรง

ส่งผลให้กลยุทธ์ในช่วงตลาดปรับฐาน นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ โดยหุ้นที่แนะนำเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ในกลุ่มธุรกิจการเงินอย่าง BBL และ BLA หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองอย่าง AOT หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการบริโภคภายในประเทศอย่าง HMPRO หรือบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 

 Q4 การจับจ่ายเพิ่มหนุนกลุ่มพาณิชย์ 

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) ซึ่งวิเคราะห์หุ้นกลุ่มพาณิชย์หรือ Commerce Sector ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นการจับจ่าย ทำให้คาดว่าการจับจ่ายจะเข้ามาในระบบอีก 4.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และในปี 2566 คิดเป็น 6% ของมูลค่ารวมตลาดค้าปลีกค้าส่งรายไตรมาสและ 2% ของมูลค่ารวมตลาดค้าปลีก ค้าส่งรายปี

ทั้งนี้ ผลบวกจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจะช่วยรองรับผลกระทบทางด้านต้นทุนจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันทางด้านต้นทุนต่อหุ้นในกลุ่ม commerce ในระดับที่แตกต่างกัน โดยพบว่าต้นทุนค่าแรงของบริษัทในกลุ่ม commerce ที่ศึกษาอยู่ (C.P. All PCL (CPALL), Siam Global House PCL (GLOBAL), Home Product Center PCL (HMPRO) และ Siam Makro PCL (MAKRO) อยู่ในช่วง 4-8% ของรายได้รวม แต่เนื่องจากอัตรากำไรของแต่ละบริษัทแตกต่างกัน ทำให้คาดว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรสุทธิในช่วง 2-10%


น้ำท่วมหนุนวัสดุก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมถือเป็นมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่ม Commerce โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งซ่อมแซมที่จะได้รับอานิสงส์เชิงบวก และเชื่อว่าสินค้ากลุ่มตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะหุ้น HMPRO GLOBAL, DOHOME จะได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์น้ำท่วม เนื่องจากกิจกรรมการซ่อมแซมตกแต่งที่อยู่อาศัยจะสูงขึ้นหลังจากเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย

อีกทั้งเมื่อบวกกับเข้าสู่ฤดูกาลซ่อมแซมบ้านหลังฤดูฝน ทำให้ demand ของสินค้าที่เกี่ยวกับการตกแต่งซ่อมแซมและการ renovate บ้านถูกเร่งขึ้น เป็นบวกมากต่อสาขาในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ GLOBAL และ DOHOME ที่มีสาขาส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดภาคกลางและภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบที่จำกัดต่อหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำท่วมในปีนี้คาดว่าจะไม่รุนแรงเหมือนกันอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ซึ่งอาจจะเห็น Traffic ที่ลดลงเล็กน้อยจากอุปสรรคในการเดินทาง และจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อ supply และการขึ้นราคาจากการกักตุนสินค้า ทำให้ให้คำแนะนำ "Overweight" สำหรับกลุ่ม Commerce ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสินค้าตกแต่งซ่อมแซมบ้าน HMPRO (ซื้อ/เป้า 18.50 บาท) GLOBAL (ซื้อ/เป้า 23.00 บาท) DOHOME (ถือ/เป้า 14.00 บาท)

HMPRO รายได้-กำไรเพิ่มขึ้น

สำหรับบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH) สัดส่วน 30.23% อันดับสอง บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (QH) อันดับสาม สัดส่วน 8.32% อันดับสี่ “นิติ โอสถานุเคราะห์” สัดส่วน 5.06% และ “มานิต อุดมคุณธรรม” สัดส่วน 2.05%

โดยในงบไตรมาส 2 ปีนี้ HMPRO โชว์กำไรสุทธิ 1.52 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.43 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ประกอบด้วย รายได้จากการขายสินค้า และรายได้จากการให้บริการลูกค้า (Home Service) รวม 1.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกัน บริษัทมีรายได้ค่าเช่า 404.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากพื้นที่เช่าในสาขาของโฮมโปรและศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสามารถเก็บค่าเช่าได้มากขึ้น และมีรายได้อื่น 584.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.42% โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับคู่ค้าทั้งในช่องทางสาขา ช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้ HMPRO มีรายได้รวม 1.73 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1.69 หมื่นล้านบาท

ด้านผลดำเนินงาน 6 เดือน บริษัทมีกำไรสุทธิไว้ 3.03 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 2.79 พันล้านบาท โดยมีรายได้รวม 3.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 3.27 หมื่นล้านบาท และล่าสุดเพิ่งเปิดสาขาสแตนด์อะโลนแห่งใหม่ โฮมโปร “ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต” สาขาแห่งที่ 94 รองรับลูกค้าย่านรังสิตและใกล้เคียง คาดจะมีลูกค้ามาชอปต่อวันไม่น้อยกว่า 2,000 คน และสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 125 ล้านบาทต่อเดือน


“ทริส” ตอกย้ำสถานการณ์การเงินแกร่ง

ล่าสุด “ทริสเรทติ้ง” ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ HMPRO ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทย ตลอดจนสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเงินทุนหมุนเวียนที่มีการบริหารจัดการเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากวงจรที่มีลักษณะขึ้นลงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย รวมถึงความกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เติบโตช้าลง

เนื่องจากยอดขายจากสาขาเดิมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 3.5% ในปี 2564 หลังจากที่หดตัวติดลบ 8.5% ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ยอดขายจากสาขาเดิมเติบโตเพียง 1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นไปตามภาวะการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูงในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด

แต่คาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัวจากสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยจะเติบโตที่ระดับ 3-4% ในระหว่างปี 2565-2567 จากระดับ 1.5% ในปี 2564 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 4-5% ในช่วงระหว่างปี 2565-2567 และคาดว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมของบริษัทน่าจะยังคงมีแนวโน้มที่สามารถควบคุมได้และอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

กำไรขั้นต้นน่าจับตา

ที่ผ่านมา อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25.8% ในปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 25.3% ในปี 2563 บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะเน้นไปที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงมากยิ่งขึ้น โดยรายได้จากกลุ่มสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทและสินค้านำเข้าซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่านั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 19.5% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2564

ในการนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของสินค้าในกลุ่มนี้ให้อยู่ที่ระดับ 20-20.5% ของยอดขายในปี 2565 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 4% โดยอยู่ที่ระดับ 1.03 หมื่นล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 5.4 พันล้านบาทในปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 5.2 พันล้านบาทในปี 2563

ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รายได้จากการดำเนินการรวมของบริษัทเติบโตที่ระดับ 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย EBITDA ปรับตัวดีขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 5.9 พันล้านบาท และบริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่ระดับ 3 พันล้านบาทโดยเปรียบเทียบกับระดับ 2.8 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 15-17% ในช่วงปี 2565-2567

ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับ 39.8% ณ สิ้นปี 2564 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและภาระหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดสาขาในทุกรูปแบบที่จำนวน 5-7 แห่งต่อปีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เปิดเพียง 1-2 แห่งต่อปีในช่วงระหว่างปี 2563-2564 ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งงบค่าใช้จ่ายลงทุนไว้ที่จำนวนทั้งสิ้น 6 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.4-1.6 เท่าในระหว่างปี 2565-2567 อันเป็นผลเนื่องมาจาก EBITDA ที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลังจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นหลัก

พร้อมกันนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสภาพคล่องที่ดีเอาไว้ได้ต่อไปในช่วงระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีกำหนดการที่จะต้องชำระหนี้ที่จำนวน 3.2-5.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 โดยทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นอยู่ที่จำนวน 4.2 พันล้านบาท

สำหรับรายได้รวมจากยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จาก 2.84 หมื่นล้านบาทในปี 2554 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 8% ทั้งนี้ บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวมของบริษัทอยู่ในช่วงระหว่าง 15-17% ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่รายอื่นในอุตสาหกรรมที่มีอัตรากำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9-10%

ยอดขายต่อสาขาเพิ่มขึ้น

ด้าน บล.ดาโอ ระบุถึง HMPRO ว่า จะเห็นยอดขายต่อสาขา (SSSG) กลับมาเป็นบวก ทั้ง Homepro และ MegaHome จากฐานที่ต่ำจากการปิดสาขาชั่วคราวในช่วงไตรมาส 3/2564 โดย Homepro จะได้รับผลกระทบมากกว่า MegaHome จากที่มีสาขาในกรุงเทพฯ มากกว่า อีกทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังความกังวลต่อโรคระบาดน้อยลง ทำให้คนกลับมาใช้จ่ายกับการตกแต่งบ้านมากขึ้น ส่วน MegaHome ที่เติบโตได้น้อยกว่าเนื่องจาก Seasonal Factor จากฝนที่ตกมากมาตั้งแต่ในไตรมาส 2/2565 และต่อเนื่องมาในไตรมาส 3/2565

ที่ผ่านมา HMPRO ได้เปิดสาขารังสิต ขณะที่ MegaHome ได้เปิดสาขาพัทยาไปแล้วในกรกฎาคม โดยบริษัทยังยืนยันสามารถเปิดสาขาที่เหลือได้ตามแผนอีกทั้งหมดจำนวน 5 สาขา ประกอบด้วย MegaHome 1 สาขา ในไตรมาส 3/2565 และส่วนในไตรมาส 4/2565 เปิด MegaHome อีก 3 สาขา และ Homepro 1 สาขา ทำให้ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจะมีสาขาในประเทศไทยเป็น Homepro 94 สาขา MegaHome 19 สาขา และ Homepro ในมาเลเซีย 7 สาขา โดยจะสามารถทำรายได้เฉลี่ยได้อยู่ที่ประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อสาขาต่อปี ส่วนของรายได้ค่าเช่าจะปรับตัวดีขึ้น จาก Occ Rate ที่กลับมาอยู่ในระดับ 95-98% ส่วนลดค่าเช่าเฉลี่ยเหลือเพียงประมาณน้อยกว่า 5%

คาดปีนี้มีลุ้นกำไรโต 15%

ดังนั้น ประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 6.28 พันล้านบาท โดยเติบโตถึง 15.4% จาก 5.44 พันล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งคาดว่ารายได้ 2565 จะสามารถโตได้ +7.6% อยู่ที่ 6.52 หมื่นล้านบาท สำหรับครึ่งปีหลัง 2565 กำไร จะ โตได้ทั้งจากช่วงเดียวกันปีก่อน และจากครึ่งปีแรก โดยแรงหนุนหลักจาก High Season ในไตรมาส 4/2565 และ Low Base ในไตรมาส 3/2564 คงคำแนะนำ "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมาย 18.50 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น