จากการศึกษาข้อมูลการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ของบริษัทจดทะเบียน จำนวน 783 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า 19.04 ล้านล้านบาท หรือ 99.40% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด พบว่า ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนแต่ละประเภท (นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนที่เป็นนิติบุคคลในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ) ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 1 ใน 4 ของตลาด เมื่อพิจารณาตามสัญชาติของนักลงทุน พบว่า มูลค่าการถือครองหุ้นประมาณ 3 ใน 4 เป็นการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนไทย และที่เหลือประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งตลาด ถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศ โดยสอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (shareholders’ benefits) เมื่อพิจารณาจากประเภทหลักทรัพย์ตามสิทธิประโยชน์ (local shares / foreign shares / NVDR) กล่าวคือ 3 ใน 4 ของทั้งตลาด เป็น local shares สอดคล้องกับสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนไทย และที่เหลือประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งตลาด เป็น foreign shares และ NVDR ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ หมายถึง นักลงทุนถือครองหุ้นตรงกับสิทธิ ทำให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน ทั้งสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (voting rights) และสิทธิประโยชน์ทางการเงิน (financial benefits)
จากการศึกษาโครงสร้างผู้ถือหุ้นในตลาดหุ้นไทย ปี 2565 ในตลาดหุ้นไทยจาก 1) ข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น 2) ข้อมูล Corporate Actions 3) ข้อมูลการระดมทุนผ่านตลาดรองของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 783 บริษัท โดยใช้ข้อมูลล่าสุดถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า 19.04 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 99.40% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด พบว่าตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนแต่ละประเภท (นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนที่เป็นนิติบุคคลในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ) ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 1 ใน 4 ของตลาด
ในการศึกษานี้จำแนกมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) ตามประเภทนักลงทุน 4 ประเภท ที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ 1) นักลงทุนต่างประเทศ 2) นักลงทุนสถาบันในประเทศ 3) บริษัทหลักทรัพย์ และ 4) นักลงทุนภายในประเทศ ซึ่งในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์เป็นตัวกลางในการซื้อขายหลักทรัพย์มีการถือครองหุ้นน้อย เฉพาะพอร์ตการถือครองหุ้นของบริษัทเท่านั้น ขณะที่ “นักลงทุนภายในประเทศ” สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักลงทุนรายย่อย และกลุ่มนักลงทุนที่เป็นนิติบุคคลอื่นๆ
เมื่อพิจารณาสัดส่วนมูลค่าการถือครองตามตามประเภทนักลงทุน พบว่า มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนแต่ละประเภท (นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนที่เป็นนิติบุคคลในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ) มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดโดยรวม โดยนักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุดที่ 29.66% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ตามด้วยนักลงทุนต่างประเทศที่ 26.84% นักลงทุนสถาบันในประเทศที่ 23.54% และนิติบุคคลอื่นๆ ที่ 19.69%
มูลค่าการถือครองหุ้นประมาณ 3 ใน 4 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเป็นการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนไทย ขณะที่อีก 1 ใน 4 เป็นการถือครองหุ้นโดยนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (shareholders’ benefits) ที่มูลค่าการถือครองหุ้นรวม 3 ใน 4 ของทั้งตลาดเป็น local shares
จากที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า นักลงทุนไทยมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมประมาณ 73.16% ของมูลค่ารวมหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และนักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมประมาณ 26.84% ของมูลค่ารวมหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
เมื่อพิจารณาตามประเภทหลักทรัพย์ตามสิทธิประโยชน์ (local shares / foreign shares / NVDR) กล่าวคือ ประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งตลาด หรือ 73.03% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เป็น local shares และที่เหลือประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งตลาด หรือ 21.37% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เป็น foreign shares และ NVDR สอดคล้องกับสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หมายถึง นักลงทุนถือครองหลักทรัพย์ตรงตามสิทธิประโยชน์ ส่งผลให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน ทั้งสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (voting rights) และสิทธิประโยชน์ทางการเงิน
โดยสรุปจากการศึกษาโครงสร้างผู้ถือหุ้นในตลาดหุ้นไทย ปี 2565 พบว่า ในตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนแต่ละประเภทในสัดส่วนใกล้เคียงกัน และนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง โดยเลือกถือครองหุ้นตรงตามสิทธิ ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นครบถ้วน