คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังเปิดรับสมัครสำหรับบุคคลทั่วไป เน้นบูรณาการความเป็นไปได้ยากในโลกความเป็นจริง ให้ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในโลกเสมือน โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ ขณะนี้มีนักเรียนจำนวน 25 คนที่เรียนจบหลักสูตรแล้วในรุ่นที่ 1 สามารถสร้าง Metaverse ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎา พนมเชิง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเป้าหมายชองการริเริ่มหลักสูตร Metaverse ว่า “ปัจจุบัน เทคโนโลยีพร้อมที่จะพาเราเข้าสู่ยุคของ Metaverse เต็มตัวแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่พร้อมคือ “คนสร้างโลกเสมือน” เราต้องการกำลังคนมหาศาลที่จะมาสร้างโลก Metaverse และเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งมั่นใจกับผู้สนใจว่าการสร้างโลกด้วย Metaverse นั้น “ใครๆ ก็ทำได้”
Metaverse คืออะไร
Metaverse (เมตาเวิร์ส) คือแพลตฟอร์มในการสร้างโลกเสมือนจริง เป็นที่รู้จักและกล่าวถึงอย่างกว้างขวางตั้งแต่ Mark Zuckerberg CEO ของ Facebook (ปัจจุบันชื่อ Meta) ประกาศใช้ Metaverse
อาจารย์กฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ชีวิตของเราอยู่กับเทคโนโลยีแทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะที่ทำงาน พูดคุยกับเพื่อนผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเล่นเกม เราล้วนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่ใช่โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่จริง ๆ Facebook เองก็เป็น Metaverse เช่นกัน เราคุยกับเพื่อน ไลฟ์สด และทำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างในนั้น ก็เสมือนกับว่าเราอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง”
รศ.ดร.กฤษฎา ได้นิยามลักษณะ “Metaverse” แบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้
สามารถเข้าไปอยู่ได้นานๆ เข้าไปแล้ว มีความสุข มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพ 3 มิติ สามารถเป็น 2 มิติ หรือไม่ต้องเป็นภาพเลยก็ได้
Metaverse มีความสำคัญอย่างไร
เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อชีวิตให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) การเรียนการสอนออนไลน์ การจัดงานสัมมนาออนไลน์ และโลกเสมือน Metaverse ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยเชื่อมต่อผู้คนในโลกที่มีความหลากหลาย โดยพลังของ Metaverse ทำให้เราสามารถไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือรับชมภาพจิตรกรรมของศิลปินระดับโลกได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องนั่งเครื่องบิน หรือกังวลเรื่องเวลาปิด-เปิดพิพิธภัณฑ์ Metaverse ช่วยขยายขอบฟ้าแห่งการเรียนรู้ จะเรียนทำอาหาร เรียนการผ่าตัดด้วยห้องผ่าตัดเสมือนจริง หรือเดินทางเข้าป่า (เสมือน) เพื่อศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศก็ทำได้ด้วย Metaverse
“ในด้านการเรียนการสอน Metaverse ก็สามารถช่วยลบข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าความเสี่ยงการติดโรคระบาด ระยะเวลาการเดินทางและค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ การเห็นของจริง ที่เป็นไปได้ยากในโลกความเป็นจริง ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในโลกเสมือน” อาจารย์กฤษฎา กล่าว
และแม้ปัจจุบัน Metaverse จะเอื้อให้คนเรามีปฏิสัมพันธ์กันแบบที่ใกล้เคียงกับการได้มาเจอกันจริง ๆ หรือได้ไปสถานที่นั้นจริง ๆ แต่ก็ยังแค่ “เสมือน”
นักวิจัยยังคงพยายามพัฒนาให้ประสบการณ์ในโลก Metaverse มีความใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น แว่น VR ของ Oculus ถุงมือ หรืออุปกรณ์ควบคุม ก็ทำให้เรารู้สึกได้เทียบเท่าของจริงมากขึ้นแล้ว โดยเชื่อว่าในอนาคต ประสบการณ์ใน Metaverse อาจจะดีกว่าของจริงก็เป็นได้
อาจารย์กฤษฎา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ายังมีอีกหลายเรื่องราวในโลกที่รอให้เทคโนโลยี Metaverse ช่วยเสริมประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้
การสร้างโลก Metaverse ทำอย่างไร
เนื้อหาในหลักสูตร “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” เน้นให้ผู้เรียนสามารถสร้าง Metaverse ได้ โดยแบ่งสาระและปฏิบัติการเป็น 3 ส่วน ได้แก่
สร้างโมเดล : เมื่อมีเนื้อหาที่ต้องการจะนำเสนอใน Metaverse แล้ว จุดแรกที่ต้องทำคือการสร้างโมเดล ซึ่งในหลักสูตรนี้จะสอนการสร้างโมเดล 3 มิติ ด้วยโปรแกรม Blender ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรี ที่สามารถสร้างโมเดลและภาพเคลื่อนไหวได้มีคุณภาพค่อนข้างดี
รวมโมเดลเอาไว้ในโลกเดียวกัน : คือการรวบรวมโมเดลเข้ามาอยู่ในแอปพลิเคชัน โดยใช้โปรแกรม Unity โมเดลที่เราได้สร้างเอาไว้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นโลกใบหนึ่งได้แล้ว
เชื่อมต่อโลกกับอุปกรณ์ : เมื่อเราได้โลกใบหนึ่งแล้ว เราต้องทำการเชื่อมโลกของเราเข้ากับอุปกรณ์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้เรียนในหลักสูตรนี้จะใช้ แว่น Oculus หรือ แว่น VR (Virtual Reality) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงโลกที่เราสร้างขึ้นมาเองกับมือได้นั่นเอง
แว่น VR จาก Oculus สื่อกลางเข้าถึง Metaverse ใคร ๆ ก็สร้างได้ จริงไหม?
ตลอดระยะเวลา 30 ชั่วโมงในการเรียนหลักสูตร “เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้” ผู้เรียนจะได้ความรู้พื้นฐานที่นำไปสร้าง Metaverse ของตัวเองได้จริง ซึ่ง “ไม่ว่าจะมาจากสาขาอาชีพใด มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมมาหรือไม่ หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสร้าง Metaverse ที่เป็นโลกของตนเองอย่างน้อย 1 ใบ พร้อมทั้งได้รับใบประกาศเมื่อเรียนจบหลักสูตร เพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริงตามความสนใจของตนแน่นอน”
“ขณะนี้มีนักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรนี้เรียบร้อยแล้ว 1 รุ่น นักเรียนทั้ง 25 คน สามารถสร้าง Metaverse ออกมาได้อย่างดี และส่วนมากบอกว่าสามารถทำได้ไม่ยากเลย” อาจารย์กฤษฎาทิ้งท้าย
สามารถติดตามรายละเอียดการเปิดรับสมัคร พร้อมค้นหารายวิชาอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย