xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนแนะองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่หยุดพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เภสัชกรหญิงอมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนพิริยะ (TNP) กล่าวในงานสัมมนา "Battle Strategy" แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE IV : STARTUP SME TO MEGATREND" ในหัวข้อ "กล้าคิดแบบ SME" โดยระบุว่า สำหรับช่วงที่ผ่านมารูปแบบการซื้อสินค้าของประชาชนทั่วไปมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการหันมาซื้อสินค้าผ่านร้านค้าท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

"หลังจากที่เราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ มาเป็นระยะเวลา 7-8 ปี บริษัทมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบต่างๆ ที่ได้มีการพัฒนา ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ในช่วงที่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าเราจึงได้รับเลือกเป็นลำดับแรกๆ ที่จะส่งสินค้าให้เพื่อจำหน่าย" ภญ.อมร กล่าว

ขณะที่ช่วงไตรมาส 3/65 บริษัทเตรียมที่จะเปิดขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ คือ "ธนพิริยะลาซาด้า" บนแอปพลิเคชัน LAZADA แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าได้ทั้งประเทศ นอกเหนือจากลูกค้าในโซนภาคเหนือตอนบนเท่านั้น อีกทั้งเป็นโอกาสในการขยายฐานการเติบโตของรายได้ให้แข็งแกร่ง สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เริ่มหันมาชอปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น

บริษัทยังคงยืนยันแผนการขยายสาขาในปีนี้ที่ 6 สาขา ที่จะทยอยเปิดให้ครบในช่วงปลายปีนี้ โดยคาดว่า ณ สิ้นปีบริษัทจะมีสาขารวมทั้งหมด 44 สาขา จากปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งหมด 39 สาขา ที่ จ.เชียงราย 30 สาขา จ.เชียงใหม่ 3 สาขา จ.พะเยา 6 สาขา

นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายสินค้าทั้งหมดมากกว่า 1,000 รายการ มากกว่า 10 ล้านชิ้นต่อปี ครอบคลุมอุปกรณ์ไฟฟ้า มือถือ ปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ด้านสุขภาพทั่วประเทศ รวมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม ด้านธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ได้มีการพัฒนาให้แก่ภาครัฐ และเอกชนหลายซอฟต์แวร์ ในขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนา "Aniverse Metaverse" ที่มีจุดเด่นด้านการเป็นเมตาเวิร์สเกี่ยวกับการศึกษา ผ่านคอนเซ็ปต์ "Learn-to-Earn" เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศไทย และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สำหรับปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ฮาร์ดแวร์ 90% และซอฟต์แวร์ 10% ในอนาคตมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีรายได้ในปี 67 เป็น 50% ฮาร์ดแวร์และ ซอฟต์แวร์ 50%

"การพัฒนาธุรกิจของบริษัทจะไม่ได้ไปแบบเดี่ยวๆ แต่เราจะไปในรูปแบบของทีม สำคัญที่สุด การที่เราเป็น SMEs เราต้องทำตัวให้เหมือนเข็ม เจาะรูๆ เดียวแล้วให้ทะลุ เอาเรื่องที่ตัวเองทำแล้วทำให้ดีที่สุด" นายพิชเยนทร์ กล่าว

น.ส.ธีรญา กฤษฎาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล อินโนเวชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทยเป็นหลัก โดยอาศัยองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยตั้งแต่สมัยอดีต นำมาปรับพัฒนาต่อยอดผสมผสานรวมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยพัฒนา และเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย โดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยผสานกับนวัตกรรม ในการสกัดสมุนไพร เป้าหมายการเติบโตของบริษัทหลังจากนี้ คือ การพัฒนาและต่อยอดเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า โดยต้องการที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มาจากสมุนไพรไทย ช่วยตอบโจทย์ของลูกค้า สำหรับจุดเริ่มต้นการเข้าถึงแหล่งของเงินทุน จะมาจากเงินทุนของตัวเองก่อน เงินทุนจากพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยทั้งเรื่องของเงินทุนและตลาดด้วย ต่อมาคือแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงิน ซึ่งขนาดบริษัทที่ไม่ใหญ่โตมากนักมองว่าจะต้องมีการบริหารจัดการด้านเงินทุนอย่างดี ซึ่งปัจจุบันมีอีกหลากหลายเครื่องมือที่สามารถระดมทุนในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น