xs
xsm
sm
md
lg

KC เจรจา "แลนด์ลอร์ด" ร่วมทุนผุดโครงการบ้านพรีเมียม ลั่นฐานะการเงินแกร่ง เป้า 3 ปียอดขาย 2 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสันติ ปิยะทัต
เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศก้าวข้ามปัญหา สู่บริษัทอสังหาฯ ที่มีความโปร่งใส หลังเคลียร์ปัญหาจบ จนตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลด SP ได้ ลั่นฐานะการเงินมั่นคง สภาพคล่องไม่มีปัญหา พร้อมเดินหน้าสร้างโอกาสเติบโตกับโมเดล เจวี กับเจ้าของที่ดินพัฒนาโครงการบ้านพรีเมียมในเมือง มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เบื้องต้น 3-4 แปลง คาดเกิดโครงการใหม่มูลค่ารวมครึ่งหมื่นล้านบาท ไม่เกินปลายปีนี้ได้เห็นโฉมหน้าโครงการใหม่ ราคาขาย 20-50 ล้านบาทต่อหลัง พร้อมไต่อันดับสู่อสังหาฯ ขนาดกลาง ยืนยอดขาย 2,000 ล้านบาท

นายสันติ ปิยะทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทเค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC เปิดเผยถึงทิศทางของบริษัท เค.ซี.หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ปลดเครื่องหมาย SP และให้หุ้น เค.ซี. กลับมาซื้อขายอีกครั้งว่า เราตั้งใจในการทำธุรกิจและมองการลงทุนในระยะยาว และเมื่อเราทราบสาเหตุที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เราก็รีบจัดการบริษัทให้เข้าที่เข้าทาง ปัญหาอยู่ตรงไหนก็แก้ตรงนั้น พอเราแก้ไขปัญหาภายในได้ลงตัว ได้มาตรฐาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กลับมาเทรดอีกครั้ง

"ตอนที่เราเข้ามา ผมเจอปัญหาเป็น 100 ประเด็น กว่าจะเคลียร์ออก ต้องมีการตรวจสอบจากบุคคลที่สาม ส่วนระเบียบและกฎกติกามารยาทภายในองค์กร เราปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน เรามีการจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาตรวจสอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ปี 2561 เป็นปีแรกที่เข้ามาทำ เราพยายามแก้ไขปัญหาเก่าๆ ข้อดีของการแก้ไขปัญหาจะสามารถย้อนไปแก้ปัญหาในอดีตเป็นสิบๆ ปี ทีมงาน เค.ซี.และผู้บริหาร ช่วยกันเต็มที่ ใช้เวลาเพียง 4 ปีที่กลับเข้ามาเทรดใหม่อีกครั้ง กลับมาดำเนินการตามปกติ สามารถล้างขาดทุนสะสมได้ โดยเมื่อการประชุมคราวที่แล้วได้มีมติลดพาร์ลง 0.70 บาทต่อหุ้น ทำให้เราตัวเบา มีกำไรมา ก็ปันผลได้เลย ยิ่งตอนนี้เราจัดองค์กรเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการรั่วไหล ผมชัดเจน ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ใครสั่งให้ทำผิด ห้ามทำ ถ้าผมสั่งไปแล้วผิดก็ห้ามทำ เราทำให้มีเสาหลักให้ทุกๆ คน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเราต้องมุ่งไปจุดที่เป็นปัญหา บางเรื่องเล่าไม่ได้ ยิ่งช่วงที่เราถูก SP เราไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินได้ ทำให้ต้องเพิ่มทุนถึง 2 ครั้ง ตอนนี้สภาพคล่องเพียงพอ สามารถทำโครงการโดยไม่ต้องขอแหล่งสินเชื่อ และหลังปลด SP แบงก์พร้อมยื่นมือมาสนับสนุน"


นายสันติ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์เพื่อแก้ไขและปรับปรุงจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ให้ดียิ่งขึ้น แบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ กลยุทธ์ด้าน Product กลยุทธ์ Process กลยุทธ์ด้านต้นทุน กลยุทธ์ด้านการตลาดและกลยุทธ์ด้านธุรกิจใหม่

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ เค.ซี.จากนี้ได้วางเป้าออกเป็นแนวทางแรก การบริหารที่ดินสะสม (แลนด์แบงก์) ที่มีอยูในโครงการเดิมประมาณ 4-5 โครงการ สามารถรองรับการพัฒนาโครงการได้ต่อเนื่องถึง 3 ปีจนปิดโครงการได้ ซึ่งที่ดินแต่ละแปลงในแต่ละโครงการเป็นที่ดินต้นทุนเดิมที่สามารถสร้างโครงการในราคาที่ไม่สูง สามารถตอบสนองต่อความต้องการซื้อของลูกค้าได้ในราคาที่เข้าถึงได้

แนวทางที่สอง เป็นการสร้างโอกาสการเติบโตให้ เค.ซี. กับการศึกษาโมเดลที่จะร่วมกับเจ้าของที่ดินในการร่วมกันพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในระดับพรีเมียม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ 3-4 แปลงในการทำโครงการบ้านพรีเมียมในเมือง ราคาขายมีตั้งแต่ 20-50 ล้านบาท แต่ละโครงการจะมีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท คาดว่าปลายปี 65 จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน 1 โครงการ มูลค่าในการพัฒนาโครงการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท หรืออีกรูปแบบอาจจะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน แปลงที่ดินมาเป็นค่าหุ้น โดยเจ้าของที่ดินเข้ามาถือหุ้น ซึ่งส่วนนี้ผู้ถือหุ้นเดิมยังคงสัดส่วนเท่าเดิม เป็นต้น


"เรามองหาที่ดินร่วมทุนในทำเลที่เหมาะสม ขนาดประมาณ 15-20 ไร่ต่อโครงการ ตอนนี้มีคนติดต่อมาทาง เค.ซี.เยอะมาก ส่วนนี้เป็นผลดีกับเรา ซึ่งเหตุผลทำโครงการร่วมทุนจะช่วยในเรื่องประหยัดการลงทุนที่ดิน ลดภาระอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระ และยิ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เราอาจจะประสบปัญหาได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้ เวลาเราขายโครงการได้ เราเอาค่าที่ดินคืนเจ้าของที่ดิน เราได้ค่าก่อสร้าง ซึ่งเราเคยทำมาก่อนแล้ว"

สำหรับเป้าหมายธุรกิจปีนี้ วางเป้ารายได้ 300 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2-3 เท่า โดยขณะนี้ เค.ซี.มียอดขายรอรับรู้รายได้ (แบ็กล็อก) ใน 5 โครงการเดิม มูลค่า 106 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายคาดว่าจะเติบโตขึ้น 2-3 เท่า แต่เราจำเป็นต้องบริหารความสามารถในการโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า เนื่องจากสถาบันการเงินยังคงมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ เนื่องจากลูกค้าที่ซื้อโครงการของ เค.ซี.เป็นอาชีพอิสระ ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้ เราหาเครื่องมือทางการเงิน เริ่มจากให้ฝ่ายขายไปคุยกับลูกค้าก่อนล่วงหน้า 6 เดือน และตรวจประวัติลูกค้าอีก เพื่อป้องกันในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

"ภาพ 3 ปีข้างหน้า เค.ซี.จะก้าวสู่การเป็นบริษัทอสังหาฯ ขนาดกลางที่มีสินทรัพย์มากขึ้น จากปัจจุบันเป็นอสังหาฯ รายเล็กอยู่ โดยมั่นใจจะสามารถกลับไปมียอดขายระดับ 2,000 ล้านบาทอีกครั้ง หลังจากมีการลงทุนโครงการบ้านพรีเมียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

ดร.พรภัทร์ รอดโพธิ์ทอง
ดร.พรภัทร์ รอดโพธิ์ทอง บุญถนอม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานสนับสนุนการปฏิบัติการร บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิม เค.ซี.เดิมทำบ้านขายอย่างเดียว เราทำบ้าน เค.ซี.มา 40 ปีแล้ว เราขอเป็นคนกลางในการเข้าไปดูแลให้บ้านของลูค้า ผ่านการบริการของบริษัทลูก เค.ซี. เพราะเรามีความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจในแบบของที่อยู่อาศัยในแต่ละโครงการ ซึ่งถือเป็นบริการหลังการขาย และพร้อมที่จะขยายบริการไปสู่โครงการภายนอกเพื่อสร้างรายได้อีกทาง

นอกจากนี้ บริษัทมองว่า ตลาดอสังหาฯ ในต่างจังหวัดยังมีความน่าสนใจ เพราะผู้คนในต่างจังหวัดมีความต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบของโครงการจัดสรรมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี อย่างไรก็ตาม เรื่องการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมีเกณฑ์ที่เข้มงวดไม่แพ้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่กำลังซื้อของลูกค้าส่วนใหญ่จะต่ำกว่า ดังนั้น ต้องวางแผนโครงการ หรือการเลือก Product จึงต้องวิเคราะห์อย่างรอบคอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น