xs
xsm
sm
md
lg

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความเข้มแข็งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ โดยมีกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง โดย Fitch คาดว่า ปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลงบประมาณลดลง เนื่องจากมีการจัดเก็บรายได้ที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่อนคลายขึ้น สำหรับสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทยปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 55.4 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับค่ากลางเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) โดยจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 56.6 ต่อ GDP ในปี 2569 อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีแนวทางการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและมีหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท ประกอบกับมีตลาดทุนในประเทศที่มั่นคง

นอกจากนี้ Fitch คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคนในปี 2565 เป็น 22 ล้านคนในปี 2566

2) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 7.8 เดือน ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับ (BBB Peers) ที่ 5.6 เดือน ทั้งนี้ Fitch คาดว่า ปี 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะขาดดุลร้อยละ 1.8 ต่อ GDP ซึ่งลดลงจากร้อยละ 2.1 ต่อ GDP ในปี 2564 และจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 1.0 ต่อ GDP และร้อยละ 2.8 ต่อ GDP ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น