xs
xsm
sm
md
lg

"กสิสุรีย์" ไม่ปิดกั้นระดมทุน หวัง Next Gen ลุยตลาดโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กสิสุรีย์” เผยปัญหาโควิดกระทบห่วงโซ่อุปทาน กดต้นทุนการผลิต-ขนส่งพุ่งสูงขึ้น หนำซ้ำวิกฤตภัยแล้งและ “สงครามรัสเซีย- ยูเครน” เข้ามาซ้ำเติม ชี้ Panic buying ส่งผลระยะสั้น มองอนาคตโตต่อเนื่องแม้ปัญหาซัปพลายการผลิตขาดช่วงบ้าง จากวัตถุดิบหลักที่มาจากพืชผลการเกษตร มองอนาคตไม่ปิดกั้นการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น หวังทายาทรุ่นถัดไปรับช่วงต่อขยายการเติบโต ชี้ธุรกิจกงสีก็มีข้อดี

นายวราพงษ์ สุภาโชค Chief Operating Officer ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กสิสุรีย์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมันรำข้าว กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาธุรกิจกับ “ผู้จัดการรายวัน 360 องศา” ว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งบริษัทเริ่มมีปัญหาจากค่าขนส่ง โดยลูกค้าต้องจ่ายค่าขนส่งเองไปต่างประเทศ ดังนั้นในช่วงปีหนึ่ง 2563-2564 อัตราค่าขนส่งแพงขึ้นเยอะมาก บริษัทยังคิดว่ามันเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะมันจะมีวัฏจักรของมัน โดยในช่วงแรกที่โควิดมาแล้วเริ่มกระจายไปทั่วโลก คือประมาณเดือน ก.พ. ปี 2563 ตอนนั้นอัตราค่าขนส่งปรับตัวขึ้นไปแล้วประมาณ 2 เท่า แต่ปัญหาคือราคาค่าขนส่งมันไต่ขึ้นมาตลอด ยกตัวอย่างการขนส่งไปอเมริกา สมัยที่ปกติอยู่ที่ประมาณ 1,200 เหรียญไปถึง los angeles หรือ san francisco ซึ่งตอนนั้นนับว่าไม่ถูก ซึ่งมาถึงตอนนี้เคยขึ้นไปถึง 16,000 เหรียญ เกิน 10 เท่า ซึ่งตอนนี้อาจจะลงมาบ้าง อยู่ประมาณ 13,000 เหรียญ ส่วนที่ส่งไปยุโรปสมัยเดิมอยู่ที่ประมาณ 1,000 เหรียญ มาถึงตอนนี้ประมาณ 8,000 เหรียญ ซึ่งจากอัตราค่าขนส่งมันสูงขึ้นมาเรื่อยๆ มีผลกระทบมากกับลูกค้าเราพบว่าทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแล้วต้องจ่ายค่าขนส่ง พอมาเจอโควิดมันจะกลายเป็นโดนกระทบ 2 ต่อ คือตอนแรกเหมือนกับเขาซื้อไม่ไหว แต่พอมีโควิดปุ๊บทีนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ทีละจุดทั่วโลกนะครับก็มีเราเรียกว่า Panic buying (อาการตื่นตระหนก ตกใจ หรือภาวะที่ทำให้รู้สึกว่าบางอย่างมีความพิเศษ และทำให้เกิดการซื้อสินค้า การบริการบางอย่างมากขึ้นแบบตั้งตัวไม่ทัน จนเกิดทำให้สินค้าขาดตลาด สถานการณ์ที่เกิด Panic Buying) คือกลัวจะไม่มีสินค้า ทีนี้เกิดการกักตุนสินค้ากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีความต้องการน้ำมันทุกชนิดสูงขึ้นเยอะ แม้แต่น้ำมันรำข้าวซึ่งเป็นน้ำมันที่แพง แต่เหมือนกับลูกค้าซื้อลูกค้าน้ำมันถูกก่อนพอน้ำมันหมด ก็มาซื้อน้ำมันแพงขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้นมันกระทบเพราะว่าที่จริงแล้ว อัตราการผลิตของทุกบริษัทที่เชื่อมโยงกับพืชผลเกษตรมันมีข้อจำกัด ตั้งแต่ว่ามีรำข่าวเท่าไหร่ ผลิตได้เท่าไหร่ นั้นตอนแรกเหมือนกับยอดขายตก เพราะว่าหาคนส่งมันแพง แต่พอมี Panic buying ตั้งแต่ประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2563 ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ทีละจุดทั่วโลก ก่อนที่จะกระจาย 3-4 เดือนครั้งหนึ่ง ก็จะมี Panic Buying ครั้งหนึ่ง ตามการระบาดของเชื้อที่กลายพันธุ์ หรือระลอกใหม่ ทำให้มีความต้องการในการสั่งซื้อสูงขึ้น ในขณะที่ตอนนั้นการเกษตรตามฤดูกาลยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้งอยู่ มีข้อจำกัดในการหาวัตถุดิบมาผลิตเป็นน้ำมันรำข้าว แต่ดีในแง่ที่ว่าความต้องการของน้ำมันรำข้าวที่ส่งออกไปมันมีความต้องการของตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไหนแต่ไรมาสูงขึ้นมาทีละนิดๆ มาทุกปี ปีนี้สูงเป็นพิเศษเพราะว่าปัญหามันไม่ใช่เรื่องโควิดอย่างเดียวแล้ว มันเป็นเรื่องเมืองจีนปิดประเทศ ปิดเซี่ยงไฮ้ มีข่าวลือว่าจะปิดปักกิ่งอะไรประมาณนี้ แล้วมีเรื่องสงครามที่ยูเครนซึ่งหลายคนไม่อยู่ในเรื่องอาหารจะไม่เข้าใจว่ายูเครนผลิตน้ำมันทานตะวันเยอะมาก ซึ่งป้อนสู่ตลาดโลก ในประเทศเขาเองใช้ไม่ได้เยอะอะไร แล้วตะวันออกกลางใช้น้ำมันทานตะวันเกือบทั้งนั้นเลย แล้วตัวน้ำมันทานตะวันเองไปทั่วทุกมุมโลก

ดังนั้น เมื่อมีปัญหามีสงคราม การขายน้ำมันทานตะวันลำบากขึ้น แล้วคนก็ต้องหันมาซื้ออย่างอื่นเลยทำให้ราคาสูงขึ้น เวลาเดียวกันประจวบเหมาะมีปัญหาเรื่องน้ำมันปาล์มเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซล ราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้สำหรับการบริโภคทั่วไป ดังนั้น เมื่อตัวอื่นหาซื้อยากขึ้นคนหันมาซื้อน้ำมันปาล์มทำให้ความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นเยอะมาก ราคาน้ำมันปาล์มจึงถีบตัวขึ้นมา 3-4 เท่าในช่วงเวลาหนึ่ง หนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้ความต้องการน้ำมันตัวอื่นมาชดเชยสูงตามไปด้วย

จากวิกฤตของโควิดที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าส่งผลเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ในส่วนภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่ผลิตซึ่งเป็นวัตถุดิบของเราต้องหยุดชะงักลง เรามีการแก้ปัญหาสภาพคล่องในการผลิตยังไงบ้าง??

จริงแล้วส่วนของวัตถุดิบ คือมันเป็นวัตถุดิบที่มาจากข้าว ดังนั้น การชะงักไม่ได้เกี่ยวกับโควิดซะทีเดียว ในอดีตเมื่อ 2563-2564 ปัญหาคือช่วงนั้นเมืองไทยมีภัยแล้งทำให้ผลผลิตของข้าวน้อยลง ทำให้ตัวรำข้าวที่เป็นวัตถุดิบหลักเองน้อยลง ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงนั้นที่เป็นเงินยูเอสดอลลาร์ค่อนข้างต่ำ คือเงินยูเอสดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งหมายความว่าทำให้ราคาสินค้าที่เราส่งออกแพงขึ้น ทำให้ข้าวของเราที่ส่งออกในจำนวนค่อนข้างเยอะประมาณ 30-40% ของยอดการผลิตทั้งหมดในประเทศที่ต้องส่งออก เพราะคนไทยไม่ได้บริโภคเองในประเทศทั้งหมด ดังนั้น ในส่วนนั้นทำให้ตลาดราคาข้าวเมืองไทยมีปัญหาในการส่งออก ทำให้ การผลิตข้าวมีประเด็นที่จะต้องคล้ายๆ กับว่าผลิตได้น้อยลง เพราะว่าความต้องการในตลาดโลกลดน้อยลง ตลาดที่อินเดียกับเวียดนามเอาของเมืองไทยไปเกือบหมด เพราะว่าราคาของไทยสูงกว่าเขา 30-40% จากคุณภาพที่ดีกว่า ถึงข้าวไทยจะดีอย่างไรก็ตาม ราคาสูงขนาดนั้น คนหันไปใช้ข้าวอินเดีย และข้าวเวียดนาม ดังนั้นเมื่อการส่งออกข้าวน้อยลง การสีข้าวน้อยลง ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง แต่ภัยแล้งมาจบเอาเมื่อปีที่แล้ว มีภาวะอากาศดีขึ้น มีน้ำเยอะขึ้น ตั้งแต่ปี 2564 น้ำท่าดินฟ้าอากาศดีขึ้น ดังนั้นการผลิตข้าวดีขึ้น แต่มาถึงจุดนั้นยังมีประเด็นว่าเรามี คู่แข่งรายใหม่เกิดขึ้น ทำให้รำที่เราสามารถซื้อได้น้อยลง แล้วพอมีประเด็นเรื่องน้ำมันปาล์มแพง น้ำมันรำข้าวแพงขึ้น มีคนสามารถส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศที่เป็นน้ำมันรำข้าว ทำให้ราคาทุกอย่างเลยต้องถีบตัวตามขึ้นมา ในขณะที่เราไม่สามารถจะไปปรับราคากับลูกค้าเราได้ทันที


ในช่วงของปัญหาที่ผ่านมาปี 2563-2564 ผลประกอบการของเราเป็นยังไง?

โดยธรรมชาติของสินค้าบริโภค ถ้าเราพูดแบบเป็นกลาง ในช่วงที่ราคาขึ้นสูงจะทำธุรกิจง่ายกว่าเพราะว่าความต้องการจะเยอะกว่า แต่เวลาที่ราคาลง เป็นช่วงที่กำไรจะน้อยลงด้วย แล้วความต้องการของลูกค้าจะน้อยลงเพราะทุกคนจะมองว่า เดี๋ยวราคาจะลงอีก ดังนั้น ในจังหวะสินค้าเกษตรทุกชนิด ถ้าไปดู ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงเป็น เงาะอะไรก็แล้วแต่ เวลาเวลามันลงมันยิ่งขายยาก เราจะไปคาดว่าเวลามันลงแล้วคนจะบริโภคมากขึ้นมันได้แค่จุดเดียวเท่านั้นเอง คนจะคิดว่าเดี๋ยวมันจะลงอีก จริงๆ แล้วจะพูดถึงเรื่องผลประกอบการในเชิงของปริมาณการผลิตมันแย่ลง แต่แย่ลงอย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าเป็นสินค้าที่มันโตตลอด ดังนั้นในความเป็นจริงเราก็โต แต่ว่ามันควรจะโตได้เยอะกว่านี้ เนื่องจากราคามันขึ้นสูงมากขึ้น ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายแพงขึ้น ดีกว่าตอนสินค้าราคาถูก

ตอนนี้วิกฤตจากสงครามของรัสเซีย-ยูเครน กระทบความต้องการอาหาร และส่งผลลบต่อห่วงโซอุปทานอาหารทั่วโลก จากปัญหานี้ ส่งผลเชิงบวก เชิงลบต่อบริษัทอย่างไรบ้าง?

ในแง่บวกคือสามารถขายของง่ายขึ้น เพราะว่าของขาดตลาด ดังนั้นแน่นอนสำหรับผู้ผลิตเวลาของขาด มันจะขายง่ายขึ้น แต่ในเชิงลบ มีปัญหาที่ตามมาคือว่าหาซื้อวัตถุดิบยากขึ้น วัตถุดิบแพงขึ้นด้วย แล้วการเจรจากับลูกค้าลำบากในแง่ที่ว่าราคามันปรับขึ้นตลอดเวลา มันไม่เหมือนกับเราสามารถเล็งไปข้างหน้าว่า 3-6 เดือนข้างหน้าราคาจะเป็นอย่างไร ลูกค้าอยากจะล็อกราคาเอาไว้ เพราะว่าลูกค้าเองซื้อสินค้าของเราไปไม่ได้บริโภคเอง แต่นำไปขายต่อ เขามีข้อจำกัดว่าเขาจะปรับราคาตลอดเวลาอย่างนั้นลำบาก เพราะฉะนั้นในช่วงจังหวะที่ของขาดตลาด ส่งผลให้ราคาขึ้น การค้าขายลำบากขึ้นในแง่ของราคา

มองราคาอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าวครึ่งปีหลังของปี 65 ยังไงบ้าง?

ครึ่งปีหลังถ้ามองในเชิงของน้ำมันรำข้าวอย่างเดียวคือโดยพฤติกรรมของข้าว ฤดูกาลเก็บเกี่ยว จะมากที่สุดคือช่วงท้ายปี ช่วงที่ข้าวออกมาเรียกว่าเป็นข้าวหน้าฝน จะออกมาประมาณเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ดังนั้นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะเยอะกว่าโดยเฉลี่ยตลอดปีของนี้จะออกมาตรงนั้นเยอะมาก แต่ประเด็นคือเราต้องพยายามเก็บสต๊อกเพราะว่าของที่เราซื้อมามันเก็บไว้ได้ไม่นานเราต้องมาสกัดออกมาเป็นน้ำมันดิบ เพื่อจะได้เก็บแต่มีข้อจำกัดว่าเมื่อเราสกัดน้ำมันดิบมาก สิ่งที่เหลืออยู่อีก 80% เป็นกาก ซึ่งเราเก็บไว้ได้ไม่นาน เพราะว่ามันมีความจำกัดเรื่องพื้นที่ในการจัดเก็บ มันมีจุดความสมดุลว่าเราสามารถจะซื้อได้มากขนาดไหน เพราะว่าส่วนวัตถุดิบในการผลิตจะใช้พื้นที่ในการจัดเก็บเยอะมาก แล้วความต้องการจำกัดเพราะว่าเอาไปเลี้ยงอาหารสัตว์ เอาไปเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ดังนั้นถ้าไม่โตขึ้นกะทันหันในช่วงนั้น คล้ายๆ กับมีสต๊อกค้างเยอะมาก ซึ่งจะล้นไปถึงต้นปี จะส่งผลทำให้เกิดการสิ้นเปลืองเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องมาใช้จัดเก็บของ

อย่างไรก็ตาม ช่วงสิ้นปีเป็นช่วงที่เราต้องพยายามเก็บวัตถุดิบในรูปของน้ำมันดิบเพื่อจะได้ในปีถัดไปเวลาเข้าหน้าแล้ง ข้าวน้อยลง รำน้อยลง จะได้มีวัตถุดิบในการที่จะกลั่นเพื่อจะได้ป้อนตลาดให้สม่ำเสมอ เพราะความต้องการของลูกค้าจะไม่ขึ้นๆ ลงๆ ตามวัฏจักรของการเกษตรขนาดนั้น มีการขึ้นลง แต่ไม่ได้มากขนาดลักษณะของเกษตร

ตอนนี้เรามีมาร์จิ้นออเดอร์เท่าไหร่?

มาร์จิ้นออเดอร์จะขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถจะรองรับการสั่งล่วงหน้าได้มากน้อยขนาดไหน ถ้าเราไปรับออเดอร์ล่วงหน้าไว้เยอะ ดังนั้นวิธีการคือเราต้องจัดการตรงนี้ก่อนว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปซัปพลายล่วงหน้าแบบนั้น เพราะว่าสินค้าที่ซื้อ จะซื้อทุกวัน ซึ่งความเป็นจริงเราไม่สามารถที่จะเก็บรำไว้ได้นานหลายเดือน ดังนั้นราคาของต้นทุนมันจะขึ้นไปตามตลาด ถ้าเราไปสร้างออเดอร์ไว้เยอะอย่างนั้นเหมือนกับเราไปขายล่วงหน้าในราคาวันนี้ แต่เราต้องไปซื้อของแพงๆ ในอนาคต จริงอยู่อาจมีราคาลง แต่ว่าในส่วนการลงมันไม่ได้รุนแรงเท่ากับเวลามันขึ้น ซึ่งเรามักจะบริหารออเดอร์ไม่ให้เยอะเกินไป ส่วนราคาส่วนใหญ่เราต้องแจ้งล่วงหน้า จะปรับจะอะไรต้องใช้เวลา 3-6 เดือน แล้วแต่สัญญาของแต่ละรายถ้าบางรายไม่มีสัญญากับเราอาจจะปรับได้เร็วขึ้น อาจจะ 3 เดือนต่อครั้ง แต่เราจะปรับกะทันหันเลยเหมือนกับไม่เห็นใจลูกค้า ในขณะที่ต้นทุนเราจะขึ้นทุกเดือน บางทีขึ้นทุกอาทิตย์ แต่เราไม่สามารถปรับราคาได้ทุกอาทิตย์

ปีนี้เราตั้งเป้าว่าเราจะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์จากรายได้ของปีที่แล้ว

เรามองในแง่ที่ว่าความสามารถที่เราจะซื้อของ จริงๆ แล้วถ้าความต้องการของลูกค้า เชื่อว่าปีนี้ความต้องการถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา ขึ้นมาอย่างน้อย 30% แต่คิดว่าเราคงจะทำได้ไม่เกินประมาณ 15% ที่เราสามารถจะผลิตและป้อนให้ลูกค้าได้ ไม่ใช่ว่าจะ Backlog ส่วนที่เหลือ เพียงแต่ว่าความต้องการลูกค้า เราไม่สามารถจะให้หมดเพราะว่ามีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบ

“โดยส่วนตัวคือเราไม่ได้มองในส่วนของราคาขาย เพราะเราถือว่า ถ้าเราไปมองขนาดของธุรกิจจากราคาขาย ถ้าสมมติวันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นวันนี้ ราคารำนึ่งอยู่ที่ 14 บาท รำสดอยู่ที่ 12 บาท ถ้าภาวะปกติราคาควรจะลงมา 2-3 บาท แต่ต้องอย่าลืมว่าเมื่อราคาซื้อแพง ราคาขายที่ขายเป็นกากมันจะแพงตามด้วย แต่มันไม่ได้ทำให้ขนาดธุรกิจจริงๆ ของเราเปลี่ยน ดังนั้นสิ่งที่เรามองคือจำนวนตันที่เราใช้ แล้วราคาที่เราสามารถจะทำกำไรได้เท่าไหร่ ดังนั้นถ้าถ้ามองเฉพาะส่วนของรายได้รวมมันอาจจะสูงขึ้นถึง 20-30% ก็ตาม แต่รายจ่ายรวมก็ตามขึ้นมาด้วย เราไม่ได้มองในส่วนนั้นเป็นกรณี ซึ่งรายละเอียดเราจะมองเพียงแค่ว่าจำนวนตันเราโตไหม คือถ้าเรามองเรื่องรำคิดว่าส่วนรำที่เราซื้อได้จะมากกว่าปีที่แล้วประมาณ 10% ส่วนของน้ำมันที่ได้จะไม่ได้มากกว่าปีที่แล้วมาก เพราะว่าคุณภาพของรำปีนี้ที่สามารถซื้อได้แย่กว่าปีที่แล้ว เมื่อเรานำรำมาหนึ่งกิโลกรัม เราได้น้ำมันที่เราสกัดออกมาน้อยลง มันมีข้อจำกัดว่าเราไม่สามารถจะโตที่ตัว finish product ตัวสินค้าสำเร็จรูปคือในรูปของน้ำมันกลั่นแล้วได้มากขนาดนั้น เราจะคิดว่าปีนี้มองในเชิงจำนวนตันคงจะโตอย่างที่ว่าประมาณแค่ 15% ในส่วนรายได้คงจะโตขึ้นเยอะเพราะว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น”

ในส่วนการหาพันธมิตรเพิ่มเติมที่เราจะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ

ทุกปีเราต้องพยายามสร้างลูกค้าใหม่ โดยส่วนใหญ่เนื่องจากเรามีปริมาณจำกัด มันจะกลายเป็นลูกค้ามาหาเรามากกว่าที่เราจะต้องไปตระเวนหาลูกค้า มาถึงจุดหนึ่งลูกค้าทั่วโลกจะรู้จักน้ำมันรำข้าวมากขึ้น เขาจะมาแสวงหาว่าเมืองไทยมีใครขายบ้าง ซึ่งมีไม่กี่ราย ท้ายสุดต้องมาหาเรา ต้องพิจารณาว่าลูกค้าแต่ละรายเหมาะในเชิงปรัชญาที่จะไปด้วยกันได้ไหม การค้าขายมาในหลักการเดียวกันหรือเปล่า ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจะช่วยแก้แบบไหน เมื่อเราเล็งพวกนั้นได้แล้วจะมาคัดลูกค้าว่ารายไหนที่คิดว่าเราจะโตด้วยกันได้ บางรายโตเร็ว บางรายโตช้า แต่ปรัชญาบริษัทคือเราอยู่บนพื้นฐานของการสร้างคู่ค้าไปด้วยกัน ดังนั้นบางรายอาจจะเดือนหนึ่งซื้อแค่ 0.5% ของที่เราขายอยู่ แต่เรารอว่าไปถึงวันหนึ่งอาจจะซื้อเพิ่มขึ้นแค่เดือนละ 1% จากของที่เราขาย เรายังขายอยู่ เพราะถือว่าเป็นเป็นน้ำบ่อยาวที่เราจะสามารถค้าขายกันมาได้เป็นสิบปี ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะค้าขายกันมานาน ถ้าคบกันแล้วมักจะอยู่ด้วยกันไปตลอด


การแบ่งสัดส่วนขายในประเทศกับต่างประเทศเป็นอย่างไร?

การขายในประเทศน้อยมาก โดยเราจะเน้นส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก ด้วยข้อจำกัดเรื่องราคา เวลาราคาถูกยังใช้น้ำมันตัวที่ราคาถูกเยอะกว่า ราคาน้ำมันของเราค่อนข้างสูง ที่ขายอยู่ในตลาดค่อนข้างจะเป็นราคาที่สูงที่สุดแล้ว ถ้าเป็นอัลฟาร์วัน เฉลี่ยต่อลิตรอยู่ที่ประมาณ 150-160 บาท ดังนั้นสัดส่วนในประเทศไทยหรือแม้แต่ที่เราขายเข้าอุตสาหกรรมอาหารจะมีตัวอื่นชดเชยที่ถูกกว่า นอกจากว่าเขาจะเน้นเรื่องคุณภาพอาหารเขาจริงๆ มีความต้องการบ้าง แต่ท้ายสุดแล้ว ณ ปัจจุบันเราส่งออกอยู่ประมาณประมาณ 95% ของทั้งหมดที่เราผลิต ซึ่งจำนวนตันที่เราส่งออกถ้าเรามองจากสถิติการส่งออกเราเชื่อว่าในเชิงของน้ำมันเพื่อการบริโภค เราส่งออกอยู่ประมาณ 55-60% ของจำนวนการส่งออกทั้งหมดในประเทศที่ผู้ผลิตส่งออก โดยเราเชื่อว่าเราเป็นดับหนึ่งในการส่งออก

ในส่วนการขยายธุรกิจในอนาคตเรามีแผนที่ว่าจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นบ้างหรือไม่?

"ไม่ปิดกั้นตัวเองแต่อาจจะต้องรอรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานแทน ซึ่งในรุ่นของผู้บริหารปัจจุบัน สรุปไปแล้วว่าคงไม่ทำในห้วงเวลานี้เพราะว่าจริงๆ ซึ่งการทำธุรกิจแบบครอบครัวมีความคล่องตัวเยอะ แล้วมีปรัชญาของเราเองที่คล้ายๆ กับว่าคือลูกค้ามาก่อน จริงทุกคนลูกค้ามาก่อนหมด แต่หลายๆ อย่างบางครั้งเราค้าขายขาดทุน เราต้องยอม เราไม่ได้ไปคำนึงถึงเรื่องผู้ถือหุ้นขนาดนั้น ถ้าเราเป็นเจ้าของเองเราต้องมองว่าลูกค้ามาก่อน ลูกค้าได้ เราได้กับลูกค้า แต่ในตลาดหุ้นมันมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาซึ่งเราคิดว่าบริษัทเราอาจจะยังไม่เหมาะที่จะไปค้าขาย บางครั้งอาจจะต้องตัดขาดทุน บางทีขาดทุนหลายปีก็มี ไม่ใช่กำไรตลอด ซึ่งในส่วนนั้นเราต้องผ่านมันให้ได้ มันมีช่วงได้ช่วงเสีย ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเรายังมีสภาพคล่องมากพอที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น"

ขณะเดียวกัน การลงทุนในธุรกิจนี้มันไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องมากขนาดนั้น คือลักษณะการลงทุนคือเมื่อสร้างโรงงานไปแล้วเป็นการลงทุนค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้นแล้ว การรักษาเครื่องจักรไม่ได้ใช้เงินเยอะขนาดนั้น ดังนั้นการใช้ทุนไม่สูง แล้วธนาคารที่ให้การสนับสนุนเราธนาคารกรุงเทพอยู่กับเรามาหลายสิบปีมาก เป็นรุ่นนี้อย่างน้อยเป็นรุ่นที่สาม ที่ทำงานร่วมกันมา ดังนั้นถ้าจะมองไปคือเราเชื่อว่าแหล่งเงินทุนของเราดีพอที่ไม่จำเป็นต้องไปใช้สาธารณะมาช่วย อัตราค่าใช้จ่ายอัตราดอกเบี้ยที่เราได้จากธนาคารกรุงเทพค่อนข้างดีมาก ถ้าจะมีความต้องการใช้เงินในการลงทุน ธนาคารกรุงเทพยินดีซัปพอร์ตเรามาตลอดเวลา ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เราสะดุด ธนาคารกรุงเทพช่วยเราตลอดเวลา อยากจะให้เอ่ยถึงว่าธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราจริงๆ ที่ช่วยเหลือเรามาตลอด

ความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตของเราตอนนี้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกหรือไม่?

เราสามารถขึ้นได้อีกเรื่อยๆ เพราะว่าตอนนี้ยังอยู่ในช่วงลงทุน ซึ่ง ณ ตอนนี้กำลังจะคอมมิชชันนะครับ คิดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มได้อีกประมาณอย่างน้อย 20-30% แต่ส่วนใหญ่แล้วเราต้องพยายามให้โตก่อน แล้วค่อยขยายเพราะว่าจริงๆ แล้วกำลังการผลิต มันขึ้นอยู่กับจุดถ้าเราจะผลิตเยอะขึ้นมันก็ทำได้ถ้าเรามีวัตถุดิบเยอะพอ แต่เพราะมันถึงจุดหนึ่งเรามองไปข้างหน้า ว่ามันไม่ใช่เรื่องกำลังการผลิตอย่างเดียว มันเป็นเรื่องคุณภาพสินค้าของเรา บางทีคุณภาพดีขึ้นกำลังการผลิตลดลง ตอนนั้นเลยกลายเป็นว่าเราพัฒนาคุณภาพเราขึ้นมาเรื่อยๆ กำลังการผลิตเราจะลดมาถึงจุดหนึ่งเราต้องเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ผลิตสินค้าที่คุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ


จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมเรามากน้อยแค่ไหน แล้วอยากให้ทางหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเราได้บ้าง

ภาครัฐถ้าช่วยถือว่ากลไกที่ให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ดีพอสมควร เวลาเราลงทุนมีการให้การสนับสนุน ถึงแม้กระทั่งตอนนี้ที่เราทำงานอยู่ถ้าเราลงทุนเป็นโปรเจกต์แล้วพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการผลิตได้อยู่ที่ดีขึ้น แล้วได้คุณภาพที่ดีขึ้น ภาครัฐมีกลไกในการที่จะให้การสนับสนุนในส่วนการลงทุน จริงอยู่ในการค้าขายอาจจะไม่มีกลไกช่วย แต่จริงๆ แล้วการค้าขายส่งออกมีกลไกเล็กน้อย มีการให้ภาษีคืนบ้างเล็กน้อยในส่วนนั้น และแม้แต่การลงทุนมีการช่วยเรื่องภาษีเงินได้ เพราะว่าท้ายสุดแล้วคือส่วนใหญ่ปัญหาเราจะอยู่ที่เมืองนอกว่าแต่ละประเทศจะมีความต้องการการออกกฎเกณฑ์แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าภาครัฐจะช่วยมันเป็นเรื่องของการช่วยธุรกิจรวมของประเทศว่าทำอย่างไรให้ ประเทศตะวันตกพิจารณาสินค้าไทยในภาพมุมมองที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นผู้ผลิตที่ไว้ใจได้เพราะทุกวันนี้เรามาไกลมาก อุตสาหกรรมจากเมืองไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลกมีคุณภาพปลอดภัยแล้วไว้ใจได้ในแง่ของการขนส่งจัดส่ง

บริษัทประสบปัญหาด้านอินเตอร์เทรดบ้างหรือไม่

จากอัตราแลกเปลี่ยนถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการกัน เพราะว่าเวลาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนแรง ยกตัวอย่างว่าถ้าเงินบาทแข็ง คืออัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นสกุลอื่นอ่อน มันทำให้สินค้าแพงขึ้น ซึ่งเราขึ้นราคาไม่ได้ กลายเป็นว่าถ้าเราขาย 1 เหรียญแล้ว 1 เหรียญเท่ากับ 35 บาท เราก็ได้ 35 บาท แต่ถ้า 1 เหรียญแค่ 32 บาทเราได้แค่ 32 บาท เราจะไปปรับเงินเหรียญให้มันตามราคาบาท มันทำไม่ได้ ดังนั้นจริงๆ แล้วทั่วโลกภาคอุตสาหกรรมการส่งออกขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าสกุลตราของตัวเองอ่อนจะทำให้การส่งออกง่ายขึ้น ดังนั้นผลกระทบคือถ้าธนาคารชาติคอยดูแลอย่าให้มันมีการแกว่งมากเกินไป คือถ้าอัตราแลกเปลี่ยนมันจะอ่อนหรือจะแข็งอย่าให้มันแกว่งมาก เพราะมันแกว่งมากเราทำตามไม่ทัน

สินค้าของเราได้มีการทำสัญญาฟอร์เวิร์ดคอนแทร็กกับทางธนาคารในอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ถ้าเราเห็นว่าตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนมีคุณประโยชน์กับเรา จะทำสัญญาล่วงหน้าว่าเราจะมีการส่งออกสกุลนี้ในจำนวนเท่าไหร่ เช่น 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งอันนี้เป็นกลไกของธนาคารกรุงเทพที่เราใช้อยู่ จะช่วยได้มากในการที่จะทำให้เงินตราที่เราได้มาคงที่มากขึ้น แต่ถ้าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง ในระยะยาวมันจะส่งผลเสียหายอยู่ดี แต่ถ้าเงินบาทอ่อนเราจะฟอร์เวิร์ดไปข้างหน้าซึ่งทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ในฐานะผู้ประกอบการอยากให้บอกประชาชนผู้บริโภคอย่างไร

สำหรับผู้บริโภคควรมองปัจจัยของสินค้าที่เราบริโภคเป็นสำคัญ ของบางอย่างเรามองว่ามันถูก แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้ใช้เยอะ สินค้าบางชนิด เช่น อาหารคือจริงๆ แล้วเป็นสิ่งจำเป็น แต่อาหารทุกชนิดกินมากไปก็ไม่ดี ดังนั้นถ้าเราสามารถจะจำกัดจำนวนให้เหมาะสม เราน่าจะมีกำลังซื้อในการที่จะเลือกสินค้าที่ได้คุณภาพ ราคาจะสูงขึ้นนิดนึง เพราะบางทีเราไปมองเรื่องราคาอย่างเดียวจากเหตุผล “เพราะว่าเราใช้เยอะเราต้องซื้อของถูก” แต่ถ้าจะฝากผู้บริโภคสินค้าทุกชนิดควรจะพิจารณา ในปรัชญาของคนขายเราบอกว่าไม่มีของดีราคาถูก แล้วควรจะต้องพิจารณาว่าของบางอย่างมันแพงมีเหตุผล อย่างน้ำมันรำข้าวที่แพงกว่า มีเหตุผลว่าต้นทุนสูงกว่า คุณภาพหรือสิ่งที่มากับน้ำมันรำข้าวมีหลายตัวที่เป็นข้อดีกับการบริโภค ดังนั้นถ้าบริโภคน้ำมันรำข้าวต่อเนื่อง จะรู้เองว่าจริงๆ แล้วมีข้อดีอะไร จะสังเกตได้ในรสชาติอาหารได้เลยไม่ต้องไปรอว่าสุขภาพจะเป็นอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น