xs
xsm
sm
md
lg

สตง.เผยปี 64 ตรวจสอบหน่วยงาน 2,832 แห่ง ปกป้องเงินแผ่นดินได้กว่า 4,200 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะลึกรายงานผลการปฏิบัติงานของ สตง. ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สรุปข้อมูลภาพรวมพบการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงาน จำนวน 2,832 หน่วยงาน และสามารถปกป้องเงินแผ่นดินได้มากกว่า 4,200 ล้านบาท

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบหน่วยรับตรวจซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ กองทุนและเงินหมุนเวียน และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 9,848 หน่วยงาน (รวมจำนวนผลผลิตการตรวจเงินแผ่นดิน 17,021 รายงาน/สัญญา/ประกาศ/เรื่อง/โครงการ) พบข้อบกพร่องและได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสิ้น 2,832 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.76 ของหน่วยรับตรวจที่ สตง. ตรวจสอบ รวมถึงแจ้งให้หน่วยรับตรวจดำเนินการชดใช้เงินคืน หรือจัดเก็บรายได้เพิ่ม หรือป้องกันความเสียหาย หรือดำเนินการมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 4,224.90 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดินสามารถจำแนกตามลักษณะงานตรวจสอบได้ดังนี้


1.การตรวจสอบการเงิน จากการตรวจสอบการเงินของหน่วยรับตรวจ จำนวน 8,452 หน่วยงาน รวม 8,711 รายงาน พบว่ามีการจัดทำรายงานการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายบัญชีภาครัฐ หรือมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดย สตง. ได้แสดงความเห็นต่อรายงานการเงินอย่างมีเงื่อนไข แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง และไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน รวมจำนวน 812 รายงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.33 ของรายงานที่ตรวจสอบ ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายการที่มีจำนวนเงินสูงอย่างมีสาระสำคัญหลายรายการ เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบระบบสารสนเทศของหน่วยรับตรวจ จำนวน 11 หน่วยงาน รวม 11 ระบบ ยังพบข้อสังเกตที่สำคัญ เช่น ไม่มีการปฏิบัติตามนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ ไม่มีการซักซ้อมหรือทดสอบแผน รวมถึงมีการควบคุมการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ หรือไม่มีการควบคุมให้ปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่ง สตง. ได้มีการประชาสัมพันธ์ผลงานการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้หน่วยรับตรวจและประชาชนได้รับทราบเพื่อเป็นกรณีศึกษาในเชิงการบริหารจัดการแล้ว

2.การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย จากการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการเงิน ด้านการจัดเก็บรายได้ ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบกรณีพิเศษ และตรวจสอบเชิงป้องกัน จำนวน 4,264 หน่วยงาน รวม 8,255 รายงาน/สัญญา/ประกาศ พบข้อบกพร่องรวม 4,602 รายงาน/สัญญา/ประกาศ คิดเป็นร้อยละ 55.75 ของรายงาน/สัญญา/ประกาศที่ตรวจสอบ โดยมีข้อบกพร่องสำคัญที่ตรวจพบ เช่น การจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม รายได้อื่น ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา รายละเอียดของสัญญาหรือข้อตกลงไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นตามกฎหมาย ระเบียบหรือเงื่อนไขที่กำหนด การคำนวณราคากลางไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต รวมมูลค่าความเสียหายจากการที่ต้องเรียกเงินคืน รายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม และประมาณการมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินงานและความเสียหายที่สามารถป้องกันได้ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,246.97 ล้านบาท


3.การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจ จำนวน 59 หน่วยงาน รวม 55 เรื่อง/โครงการ มีข้อตรวจพบทั้ง 55 เรื่อง/โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 และได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการมิให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,977.93 ล้านบาท โดยปรากฏข้อตรวจพบที่สำคัญในด้านประสิทธิภาพ/ความประหยัด เช่น ไม่มีการติดตามประเมินผลหรือมีระบบติดตามประเมินผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการล่าช้า หรือไม่มีการดูแลรักษาโครงการให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ดีอยู่เสมอ ด้านประสิทธิผล/ผลสัมฤทธิ์ เช่น การกำหนดวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด แผนการดำเนินงานไม่ครบถ้วน ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า นอกเหนือจากผลงานด้านการตรวจสอบซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สตง. แล้ว ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สตง. ยังได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) ของหน่วยงานระหว่างประเทศ 2 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear - Test-Ban Treaty Organization : CTBTO) และองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEAN Supreme Audit Institutions : ASEANSAI) รวมถึงมีการเผยแพร่ผลงาน บทความทางวิชาการต่างๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานแก่หน่วยรับตรวจ และการให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อสอบถามแก่หน่วยรับตรวจ เป็นต้น

“สตง. ยังคงมุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติด้วยการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยรับตรวจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจเพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวในตอนท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น