ผู้บริหารธุรกิจบ้านมือสองหนุนแนวคิด "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ส่งเสริมผู้มีรายได้น้อย กลุ่มอาชีพอิสระมีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ชงโมเดลนำอพาร์ตเมนต์ในเมืองที่มีปัญหาเรื่องผู้เช่า ปรับเปลี่ยนใบอนุญาตเป็น "อาคารชุด" เปิดโอกาสผู้มีรายได้เช่าซื้อ สร้างเครดิตให้แบงก์ก่อนยื่นกู้ผ่าน แถมแก้อพาร์ตเมนต์ล้นตลาดอีกทาง
ประเด็นการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางและทำงานในกรุงเทพฯ แก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (คนใหม่) ประกาศไว้นั้น
นายสมศักด์ ชุติศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคิวไอ (ประเทศไทย) จำกัด อดีตนายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในปัจจุบันที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาแพง ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอพาร์ตเมนต์บางแห่งเริ่มเสื่อมโทรม ถ้าเป็นไปได้ตัวอพาร์ตเมนต์เป็นโครงสร้างเก่า ทำอย่างไรที่จะนำอาคารที่ผู้เช่าได้หายไปในช่วงที่เกิดโควิด-19 และหาผู้เช่าได้ยากขึ้น นำมาปรับปรุงและให้ผู้มีรายได้น้อยสามาถเช่าซื้อได้ และยังช่วยลดภาระในเรื่องการเดินทาง ทำให้มีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าต้องอยู่ไกลที่ทำงาน เกิดความรีบเร่ง การจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าค่าใช้จ่ายจะสูง ทำให้ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารหลายต่อ กลับมาดึก เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
"เดิมใบอนุญาตประกอบการเป็นอพาร์ตเมนต์ คงต้องเปลี่ยนมาเป็นใบอนุญาตแบบคอนโดมิเนียมแทน และให้คนที่มีรายได้น้อย ที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง ช่วงต้นๆ เป็นแบบเช่า โดยแบ่งเงินบางส่วนมาเป็นเงินดาวน์ และเมื่อผ่านไป 3-5 ปี ผู้เช่าเหล่านี้มีสิทธิ มีเงินออมพอแล้วจะเปิดโอกาสกู้กับสถาบันการเงินได้ มีสิทธิซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ค่อยเหมาะกับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากราคาที่ดินแพงมาก"
ดังนั้น ถ้าผู้ว่าฯ กทม.จะทำ จะดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ลองหาอพาร์ตเมนต์ซึ่งมีจำนวนปริมาณมากมาเป็นทางเลือก อีกทั้งยังสามารถช่วยส่งเสริมกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่อง Statement ที่จะให้แบงก์ดูได้ แต่ถ้าทำแบบเช่าซื้อ มีรายการเดินบัญชีให้แบงก์ดูได้ ในที่สุดสามารถผ่อนได้ทุกเดือน และยังมีเงินเก็บ จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อได้
นายสมศักด์ กล่าวว่า ถ้ามองในเขต กทม. สินค้าที่ยังขาดแคลน คือ ทาวน์เฮาส์ ต้องไปดูว่าจะมีทาวน์เฮาส์ตรงไหนที่จะนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ โดยการทำทาวน์เฮาส์เก่าให้ดูมีความโมเดิร์นได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มที่พอมีกำลังสามารถซื้อได้
"เรามองว่าทรัพย์สินรอการขายของแบงก์ที่อยู่ในเขตเมือง ต้องไปดูว่าทรัพย์มีอายุแค่ไหน ถ้าเป็นทรัพย์ใหม่ต้องไปมองใหม่ว่า ต้นทุนของแบงก์ที่ปล่อยดีเวลลอปเปอร์ ถ้าปล่อยสูง อย่างแบรนด์อสังหาฯ ดีๆ จะทำให้ต้นทุนปล่อยสินเชื่อของแบงก์สูง แต่ต้องมาดูปัจจุบัน ราคาตลาดจริงๆ ควรเป็นเท่าไหร่ แบงก์ไม่ควรถือไว้นานแล้ว ต้องปล่อยออกมา และให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ จะเกิดประโยชน์กว่า"