ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจับมือแจงนโยบายฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 คลี่คลาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุน เน้นเติบโตอย่างยั่งยืน ปรับตัวกับปัจจัยผันผวน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในเวทีเสวนาหัวข้อ "มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย" งาน Better Thailand Open Dialoque วันแรก ถามมา-ตอบไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเต็มสูบ นายสุพัฒพงษ์ ย้ำว่า อันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังดีต่อเนื่อง จึงสร้างความเชื่อถือกับต่างชาติ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกับรัฐบาลหลังใช้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมแห่งอนาคตในเขตอีอีซี คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังเติบโตไปได้ ขอให้คนไทยร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อก้าวข้ามปัญหาในขณะนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าไทยมีปัญหาต้องพึ่งแหล่งพลังงาน พึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ ขณะที่ไทยยังมีศักยภาพ เมื่อทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนา ดึงดูดการลงทุน จากนั้นเมื่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้นเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามา และในช่วงวิกฤตนี้ การพึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจแบบพอเพียงนับว่ามีความสำคัญจึงต้องเน้นภาคเกษตรเพื่อทำให้ไทยอยู่รอดได้ เมื่อลดการพึ่งพาจากโลกตะวันตก ยังสามารถค้าขายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ กระทรวงคลังเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่มั่นคง เพื่อให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืน
ที่สำคัญต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย การส่งออกของไทยไปประเทศเพื่อนบ้านเติบโตร้อยละ 20 หากไทยเน้นสร้างความต้องการซื้อประเทศเพื่อนบ้านและไทย จะทำให้ไทยได้รับผลกระทบน้อย นโยบายทางการคลังต้องเข้าไปสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมศูนย์สุขภาพ รองรับกระแสดูแลสุขภาพท่ามกลางโควิด-19 การสนับสนุนสินเชื่อกรีนไฟแนนซ์ นับว่าแบงก์เริ่มปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จึงต้องส่งเสริมภาคเอกชน ในอนาคตเทคโนโลยีมีอิทธิพลสูง สิ่งจำเป็นจึงต้องปรับทักษะความรู้ พัฒนาคุณภาพแรงงาน ภาครัฐต้องจัดระบบสวัสดิการ การช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินทำได้อย่างรวดเร็ว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญออไปสู่ต่างจังหวัด คนไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองหลวง ขณะที่เอสเอ็มอีต้องเชื่อมกับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อให้มีช่องทางการผลิต การตลาด การนำเทคโนโลยีมาใช้ การพัฒนาบุคลากร ทุกฝ่ายต้องปรับตัวให้ยืนด้วยขาตัวเอง นำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ให้เต็มที่ ปลดล็อกการทำปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการทำปุ่ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต อาหารสัตว์ต้องหันมาใช้วัตถุดิบในประเทศแทนการนำเข้า ภาคธุรกิจต้องปรับตัวการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
ดร.เศรษฐวุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาโควิด-19 แบงก์ชาติต้องดูแลให้สถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ สินเชื่อหดตัว ธุรกิจลำบาก ล่าสุดสินเชื่อไทยโตร้อยละ 6 นับว่ากลไกทางการเงินยังพอทำงานได้แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังขาดสภาพคล่องได้ทั่วถึง และยังได้ไกล่เกลี่ยหนี้ การพักทรัพย์พักหนี้ หลังจากนี้ไป ธปท.ต้องหาทางทำอย่างไม่ให้ทุกส่วนสะดุด เพื่อเดินหน้าการลงทุน ทั้งปัญหา NPL อัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงจนกระทบต่อทุกฝ่าย ยืนยันว่าไทยไม่เจอปัญหา StragFlation อย่างแน่นอน เพราะ ธปท. ยังคาดว่า GDP เติบโตร้อยละ 3.2 ในปี 65 ทุกฝ่ายต้องสร้างนิเวศให้มีความพร้อม รองรับการฟื้นตัวจากปัญหา เมื่อไทยแนวโน้มที่โดดเด่น ต้องสร้างโอกาสใหม่ให้เอกชน มุ่งด้านความปลอดภัยทางอาหาร เพราะไทยมีศักยภาพสูงมาก ต้องหาจุดเด่นมาส่งเสริม
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ต้องทำความท้าทายกลายเป็นโอกาสได้ เมื่อประเทศไทยพัฒนาพื้นฐานได้ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ต้องสร้างเครือข่ายซัปพลายเชน ช่วยสร้างรายย่อยให้เติบโตตามไปด้วย จะทำให้เกิดการลงทุนด้านต่างๆ การเดินต่อไปข้างหน้า โดยต้องคัดเลือกสาขาอุตสาหกรรมให้เป็นพระเอกทุกสาขา