xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.48 คาดผันผวนในฝั่งอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย 
เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์ โดยผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนอาจทยอยผ่อนคลายและยุติมาตรการ Lockdown ได้ในวันที่ 1 มิถุนายน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ที่ส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งหน้า เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ สอดคล้องกับมุมมองตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ประธานเฟดยังได้เน้นย้ำว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อคุมปัญหานั้นจะทำให้เศรษฐกิจชะลอลง (Soft Landing) แต่คงไม่ถึงขั้นเกิดถาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่งอยู่ ทั้งนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.60 บาท/ดอลลาร์ มองผันผวนในฝั่งอ่อนค่า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความกังวลผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรพลังงานต่อรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้อีกครั้ง อนึ่ง การแข็งค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ทางด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น ผู้เล่นบางส่วนใช้จังหวะการปรับฐานหนักของหุ้นในการเข้าซื้อ (Buy on Dip) ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ที่ขยายตัว +0.9% จากเดือนก่อนหน้าตามคาด สะท้อนว่าการบริโภคในสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดีแม้ว่าจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงก็ตาม นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดถึง 77% (ของกว่า 91% บริษัทบน S&P500 ที่ได้ประกาศผลประกอบการแล้ว) ได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.02% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถกลับมาปิดตลาดที่ +2.76% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่ปรับตัวลงแรงก่อนหน้า เช่น Tesla +5.1% Amazon +4.1% Apple +2.5%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นกว่า +1.5% เช่นกัน ท่ามกลางความหวังว่าทางการจีนจะสามารถทยอยผ่อนคลายและยุติมาตรการ Lockdown หนุนให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมต่างปรับตัวสูงขึ้น เช่น Louis Vuitton +2.6% Kering +2.1% ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยุโรปส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาดยังคงช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่าตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หากมีการตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียที่รุนแรง จึงยังคงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้าง ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.99% ทั้งนี้ ตลาดการเงินยังคงมีโอกาสเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงอยู่จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังไม่ชะลอตัวอย่างชัดเจน หรือความกังวลผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways และผู้เล่นในตลาดอาจเน้นเทรดในกรอบ (Buy on Dip and Sell on Rally)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.3 จุด หลังตลาดกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง ทว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าผู้เล่นในตลาดอาจรอเข้าซื้อทองคำ หากราคามีการปรับตัวใกล้โซนแนวรับก่อนหน้าแถว 1,780-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามข้อมูลเงินเฟ้อจากฝั่งยุโรป ซึ่งหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 7.5% หรือมากกว่าอาจเป็นแรงกดดันให้ธนาคากลางยุโรปเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด เช่น การขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น