เอ็ม.ซี.เอส.สตีล เซ็นสัญญารับจ้างผลิตงานใหม่ 8 โครงการ บิ๊กออเดอร์ 1.21 แสนตัน ผู้บริหารเดินหน้าหางานไม่หยุด เร่งเจรจาโครงการใหม่อีก 7 หมื่นตัน คาดได้ข้อสรุปราวต้นปี 66 เบ็ดเสร็จรวมงานในมือแตะ 2.6 แสนตัน รองรับการเติบโตระยะยาวจากนี้ 5 ปี พร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่และดึงเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ทรานส์ฟอร์ม MCS รองรับงานในอนาคต
ดร.ไนยวน ชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) (MCS) เปิดเผยว่า บริษัทได้เซ็นสัญญาในการรับจ้างผลิตงานใหม่ 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 121,000 ตัน โดยทั้ง 8 โครงการมีระยะเวลาผลิตเริ่มตั้งแต่ปี 2565-2568 ซึ่งโครงการใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 41,000 ตัน ของบริษัท Kajima Corporation เป็นโครงการขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้บริษัทฯ มีงานรับล่วงหน้าที่ค้างอยู่ประมาณ 66,000 ตัน ซึ่งเมื่อรวมกับงานใหม่อีก 8 โครงการ ทำให้บริษัทมีงานรับล่วงหน้าแล้วทั้งหมด 187,000 ตัน โดยเป็นงานในมือจนถึงปี 2568 ซึ่งงานดังกล่าวไม่รวมส่วนของโรงงานในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ บริษัทได้ส่งมอบโครงการ Toranomon Azabudai อาคารสูงที่สุดในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับการจัดอันดับอาคารสีเขียวในระดับแพลทินัม ประเภท ND.LEED จาก US Green Building Council (USGBC) ที่ประเมินรองรับอาคารและเมืองทั่วโลก สะท้อนถึงมาตรฐานโครงการในระดับดีเยี่ยมและเป็นโครงการที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ส่งผลดีต่อบริษัทที่จะทำให้ได้โครงการใหม่เพิ่ม ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาโครงการใหม่ที่มีชื่อเสียง ไม่แพ้โครงการ Toranomon Azabudai มูลค่าโครงการราว 40,000 ตัน คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปโครงการนี้ภายในสิ้นปี 2565 ขณะเดียวกัน พร้อมเร่งเจรจาอีก 1-2 โครงการ มูลค่าประมาณ 30,000 ตัน คาดจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566
“สำหรับ 8 โครงการใหม่ที่เราได้เซ็นสัญญา รวมแล้วกว่า 121,000 ตัน แน่นอนว่าจะทำให้มีงานในมือรองรับได้ถึงปี 68 แต่จากศักยภาพของเราที่เร่งปรับปรุงในหลายด้าน ทำให้วันนี้เราเชื่อว่า MCS จะสามารถรับงานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเจรจาอีกราวๆ 70,000 ตัน เมื่อรวมทั้งหมดแล้วเราสามารถตุนงานในมือได้ประมาณ 260,000 ตัน ในช่วง 5 ปีจากนี้ สะท้อนว่า MCS กำลังจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง” ดร.ไนยวน ชิ กล่าว
ขณะที่บริษัทได้เดินหน้าพัฒนาหลายส่วนขององค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจโดยใช้เวลา 1-2 เดือน เพื่อรองรับการผลิตที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่น การปรับปรุงโรงงานโดยการนำเข้าและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ภายในโรงงาน การติดตั้งห้อง War Room เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการบริหารงานโดยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลและสถานะของโครงการได้อย่าง Real Time เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท การนำระบบ IT เข้ามาใช้โดยให้พนักงานทุกคนส่งข้อมูลผ่าน Tablet เพื่อลดการใช้เอกสาร (paperless), การนำโปรแกรมแบบ 3 มิติ (3D) เพื่อให้ช่างสามารถดูงาน ดูแบบของโครงการเพื่อให้เห็นภาพรวมของชิ้นงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และรองรับงานใหม่ที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการก้าวสู่นวัตกรรมใหม่ที่บริษัทพร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน