xs
xsm
sm
md
lg

“JTS” แรงเหมืองขุดคริปโตฯ หนุน ฝันขึ้นเบอร์ 1-บิตคอยน์ผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น" ร้อนแรงจนน่าหวาดหวั่น หลังโดนตลาดหุ้นลงดาบไปแล้ว 1 โหล คาดแผนสร้างเหมืองขุดเหรียญบิตคอยน์ดันราคาหุ้นพุ่ง 3 หมื่นเปอร์เซ็นต์จาก 1 บาทนิดๆ โจนทะยานเฉียด 600 บาทต่อหุ้น ขณะที่ผลประกอบการปีล่าสุดแม้จะเติบโตขึ้นมาก แต่ความผันผวนของบิตคอยน์ไม่มีใครสามารถการันตีได้ อีกทั้งรายได้จากเหมืองขุดแม้เติบโต แต่ไม่มีนัยสำคัญ ต้องรอผลไตรมาสแรกช่วยชี้ชัด

ณ เวลานี้ สำหรับแวดวงตลาดหุ้นไทยต้องยกให้หุ้นของบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ยืนหนึ่งเรื่องความร้อนแรงที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 จวบจนถึงปัจจุบัน นั่นเพราะราคาหุ้น JTS ได้วิ่งจาก 1.93 บาทต่อหุ้น เมื่อสิ้นปี 2563 มายืนหนึ่งอยู่ที่ 586.00 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 22 เม.ย. และเชื่อว่ายังมีโอกาสไปต่อได้อีก แต่หากคำนวณเฉพาะภายในเวลา 1 ปี 3 เดือนเศษ จะราคาพุ่งขึ้น 584.07 บาท หรือเพิ่มขึ้น 30,262.94%

เรียกได้ว่าไม่มีหุ้นไหนบนกระดานเทรดตลาดหุ้นไทยที่ทำได้เช่นเดียวกับ JTS นั่นเพราะหากใครช้อน JTS เก็บไว้ด้วยเงินลงทุนเพียง 1 แสนบาทในวันนั้น วันนี้จะมีเงินกว่า 30 ล้านบาท หรือลงทุน 1 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2563 วันนี้จะรวยกว่า 300 ล้านบาทแล้ว

หากใครติดตามข่าวสารตลาดหุ้นมาตลอดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าความร้อนแรงของ JTS เคยถูกตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายไปแล้ว 12 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปี 2564 แม้ล่าสุดครั้งที่ 12 ที่ถูกห้ามซื้อขายด้วยป้าย SP จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 แต่หลังจากพ้นโทษออกมา ราคาหุ้นวิ่งแรงไม่หยุดต่อไป ทำให้เชื่อกันว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปค่า P/E ของหุ้น JTS มีโอกาสทะลุ 2,000 เท่าในไม่ช้า จากปัจจุบัน 1,872 เท่า เพราะไม่มีสัญญาณว่าเกมลากหุ้นตัวนี้จะปิดฉากลงในระยะสั้น จนตลาดหลักทรัพย์ต้องจับเข้ากรงอีกครั้งด้วยเครื่องหมาย SP เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565 จึงทำให้ JTS หล่นลงมา 14.00 บาท ปิดที่ 570.00 บาทต่อหุ้น

จากเรื่องดังกล่าว ทำให้หลายต่อหลายคนเริ่มคิดว่า เกณฑ์ในการกำกับดูแลหุ้นที่พุ่งแรงเกินพิกัดของตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาควบคุมแต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอต่อการป้องปรามหุ้นเหล่านี้ โดยเฉพาะกรณีของ JTS ในแวดวงนักลงทุนต่างเชื่อมั่นว่าต้องมีเบื้องหลังสำหรับเกมลากราคาเย้ยฟ้าแบบนี้เป็นแน่ นั่นเพราะปริมาณหุ้นที่ซื้อขายหมุนเวียนน่าจะอยู่ในมือของ “เจ้ามือ” หรือ “ขาใหญ่” เกือบทั้งหมด จึงสามารถควบคุมราคาได้ จะลากขึ้นไปขนาดไหนไม่ต้องกลัวถูกถล่มขายเพราะนักลงทุนทั่วไปแทบไม่มีใครถือหุ้น JTS เหลืออยู่ในมือ 

ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นให้เข้มงวดขึ้น โดยมีมาตรการ 3 ระดับคือ มาตรการระดับ 1 ห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อด้วยบัญชี Cash balance มาตรการระดับ 2 ห้าม Net Settlement ห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อด้วยบัญชี Cash balance และมาตรการระดับ 3 ห้ามซื้อขายเป็นการชั่วคราว 1 วันทำการ จากนั้นเมื่ออนุญาตให้ซื้อขาย ยังคงห้าม Net Settlement ห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และต้องซื้อด้วยบัญชี Cash balance และเมื่ออนุญาตให้ซื้อขายแล้ว หากสภาพการซื้อขายยังคงเปลี่ยนแปลงไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน จะดำเนินการตามมาตรการด้วยการหยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 1 วันทำการเป็นระยะๆ โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

พุ่งแรงเพราะขายฝันเหมืองขุด

นั่นเพราะ จุดขายเดียวที่ JTS ออกมาเผยแพร่ให้นักลงทุนได้รับทราบคือ แผนการลงทุนขุดเหมืองบิตคอยน์ หรือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีชื่อดัง ซึ่งปัจจุบันราคาเหรียญปรับตัวขึ้นมาสูงมาก และกำลังผันผวนอยู่ในช่วงเวลานี้จากสถานการณ์ต่างๆ ในต่างประเทศที่เข้ามากดดันจนราคาปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับ JTS ว่า หากธุรกิจที่บริษัทเบนเข็มให้ความสำคัญกับการตั้งเหมืองขุดเหรียญคริปโตฯ ดีจริง ทำไมจึงไม่มีนักวิเคราะห์จากค่ายไหนออกมาประเมินแนวโน้มธุรกิจ และราคาที่เหมาะสมของหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากธุรกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ยังทำให้ แวดวงตลาดหุ้นเชื่อว่า นั่นเพราะรายได้จากการลงทุนทำเหมืองขุดเหรียญของ JTS ยังเป็นเพียงการคาดหมายที่เลื่อนลอย ไม่มีหลักเกณฑ์หรือหลักพื้นฐานที่จะตั้งสมมติฐานรายได้ใดๆ มารองรับ แม้ปี 2564 บริษัทจะมีรายได้ก้าวกระโดดแตะ 1.87 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 221.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากสิ้นปี 2563 ที่เคยมีรายได้ 309.94 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 44.17 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้กำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 400% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 44.16 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.87 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.07% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1.64 พันล้านบาท แต่สิ่งที่น่าสนใจนั่นคือข้อมูลที่บริษัทชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า รายได้จากธุรกิจออกแบบ และวางระบบสื่อสารและโทรคมนาคมอยู่ที่ 127.41 ล้านบาท ลดลง 40.66% จากปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 214.72 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ในการขายอุปกรณ์ลดลง

ขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมอยู่ที่ 1.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.20% จากปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 1.38 พันล้านบาท เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการวงจรเช่าในประเทศ บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ และรายได้จากการให้บริการอื่น ประกอบกับรายได้จากธุรกิจจัดหา ออกแบบและวางระบบคอมพิวเตอร์อยู่ที่ 52.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.85% จากปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 44.37 ล้านบาท เนื่องจากการขายระบบพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

และสิ่งที่สำคัญนั่นคือ รายได้จากธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์อยู่ที่ 9.591882 เหรียญบิตคอยน์ คิดเป็นจำนวนเงิน 16.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 27.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% ขณะเดียวกันรายได้อื่น อยู่ที่ 6.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.89% จากปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 4.86 ล้านบาท

ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยที่น่าจับตามองสำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2565 ของบริษัทว่ารายได้จากธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์จะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องมากน้อยเพียงใดจากปี 2564 นั่นเพราะทุกวันนี้การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น JTS ใครต่อใครต่างมั่นใจว่ามาจากการเพิ่มธุรกิจเข้ามาสู่ตลาดเหรียญคริปโตฯ ของบริษัท ดังนั้น การเติบโตของผลประกอบการในไตรมาส 1/65 น่าจะหนีไม่พ้นที่ธุรกิจเหมืองขุดต้องมีความโดดเด่นอย่างเป็นนัยสำคัญ

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจ และต่อเนื่องมาถึงธุรกิจเหมืองขุดเหรียญบิตคอยน์ของบริษัทนั่นคือ กรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 เห็นควรให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 เม.ย.2565 เพื่อพิจารณาอนุมัติไม่จัดสรรเงินกําไรสุทธิเป็นทุนสํารองตามกฎหมาย เพื่อนำกำไรสะสมไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากปี 2564 บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JasTel) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทได้เข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) ซึ่งได้มีการอนุมัติการจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ที่มีพลังประมวลผลสูง (Total Hash Rate) จำนวน 1,725 เครื่อง พร้อมระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 437.31 ล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนเครื่องขุดบิตคอยน์ที่ติดตั้งแล้วเสร็จ จำนวน 315 เครื่อง ส่วนจำนวนเครื่องขุดบิตคอยน์ที่เหลือจะทยอยส่งมอบในปี 2565

ไม่เพียงเท่านั้น JTS ยังมีแผนการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ในปี 2565 โดยจะทำให้จำนวนเครื่องขุดของบริษัทรวมอยู่ที่ 8,100 เครื่อง พร้อมด้วยระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 3.3 พันล้านบาท ซึ่งการลงทุนเพิ่มเติมจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการขุดบิตคอยน์เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้าน Terrahash/s และจะทำให้กลุ่มบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์รายใหญ่สุดในประเทศไทย โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว และน่าจะเป็นสาเหตุให้บริษัทเลือกงดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น

ประเด็นดังกล่าวหลายฝ่ายมองว่า ทำให้เกิดความอ่อนไหวต่อการดำเนินธุรกิจของ JTS เพราะเมื่อไร้ซึ่งผลตอบแทนจากรูปแบบเงินปันผล ซึ่งเป็นอะไรที่หลายต่อหลายคนเข้ามาลงทุนย่อมแสดงว่าบริษัทมีความจำเป็นที่ต้องการใช้แหล่งเงินทุนเป็นจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ฝั่งผู้ถือหุ้นหากเรื่องดังกล่าวได้รับการเห็นชอบย่อมแสดงถึงการพลาดโอกาสรับกำไรจากเงินที่ลงทุนไปอีกช่องทางหนึ่ง จึงเหลือเพียงกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครเข้าลงทุนใน JTS ไว้ที่ระดับราคาใดเพราะระดับราคาลงทุนที่แตกต่างย่อมมีผลต่อกำไร/ขาดทุนในการลงทุนหุ้นนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อย (ฟรีโฟลต) นั้น พบว่าอยู่ที่ 38% ถือเป็นระดับที่ผ่านเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม พบว่าอีกกว่า 62% นั้นถือครองโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท นั่นคือกลุ่ม “โพธารามิก” ยิ่งทำให้ชวนสะดุดใจ

โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของ JTS ประกอบด้วย บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS สัดส่วน 32.80% ถัดมาคือ “พิชญ์ โพธารามิก” สัดส่วน 9.59% อันดับสาม บริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด สัดส่วน 9.06% และบริษัท ที.เจ.พี.เอ็นจิเนียริ่ง สัดส่วน 9.05% รวมทั้งกลุ่ม “โพธารามิก” ครองหุ้น JTS คิดเป็นสัดส่วน 60.05%

ด้านข้อมูลพื้นฐานของ JTS ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2538 ภายใต้ชื่อ บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 ด้วยราคาที่เสนอขาย IPO หุ้นละ 3.20 บาท ที่มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาท ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 พร้อมกับการประกาศเดินหน้าธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ซึ่งจะเริ่มรับรู้กำไรตั้งแต่กลางปี 2564 หลังจากบริษัทได้จัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์และเริ่มดำเนินการไปแล้วกว่า 300 เครื่อง และเมื่อย้อนไปดูการดำเนินธุรกิจของ JTS ก่อนหน้านี้ พบว่า ธุรกิจของบริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากแผนต่อยอดทางกลยุุทธ์ Hyperscale Data Center ปี 2563 ซึ่งรวมกับพันธมิตรเกาหลีใต้ KT Corporation (KT) ผู้ให้บริการด้าโทรคมนาคมอันดับหนึ่งในเกาหลีใต้ และมีความเชี่ยวชาญด้าน Internet Data Center (IDC)

ถัดจากนั้นไม่นานบริษัทเปิดตัวโปรเจกต์ใหญ่ นั่นคือการเข้าลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์ด้วยเม็ดเงินลงทุน 156.7 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในเครื่องคอมพิวเตอร์ 500 เครื่อง ก่อนที่จะประกาศเป้าหมายใหม่เป็น 8,100 เครื่องในปีนี้ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวม 3.3 พันล้านบาทในการจัดหาเครื่องขุด รวมทั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขุดบิตคอยน์เป็น 1 ล้าน Terrahash/s และนั่นจะส่งผลให้ JTS เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์รายใหญ่สุดของไทย


ไม่ปันผล-ขายหุ้นกู้

และเพื่อแผนงานสร้างเหมืองขุดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสำเร็จผล เมื่อเร็วๆ นี้ JTS รายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้มีประกันของบริษัท ครั้งที่ 1/2565 ครบกําหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2568 จํานวนรวมไม่เกิน 3 พันล้านบาท โดยมีมูลค่าหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมไม่เกิน 1 พันล้านบาท ทำให้มีมูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 4 พันล้านบาท เสนอขายให้ผู้ลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่

ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าว อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.25% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินงานเหมืองขุดบิตคอยน์ และชําระหนี้ให้สถาบันการเงิน หลังจากในปี 2564 บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JasTel) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทได้เข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ที่มีพลังประมวลผลสูง (Total Hash Rate) จำนวน 1,725 เครื่อง พร้อมระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ คิดเป็นมูลค่า 437.31 ล้านบาทในช่วงเวลาก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ช่วยตอกย้ำว่า JTS เอาจริงสำหรับธุรกิจลงทุนสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์ น่าจะมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เมื่อมีงานสำคัญของวงการ Bitcoin ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีที่ Miami Beach Convention Center ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ JTS นำโดย “ดุสิต ศรีสง่าโอฬาร” กรรมการผู้จัดการ รุดเดินทางข้ามประเทศเพื่อเข้าร่วมงานดังกล่าวทันที ซึ่งภายในงานได้เข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีของ Bitmain Technologies Limited บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนที่ไปออกบูทภายในงานด้วย ทำให้หลายฝ่ายตามติดว่า JTS จะได้เทคโนโลยีสุดไฮเทคอะไรกลับมาบ้าง

ในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า แผนธุรกิจลุยเหมืองขุดเหรียญคริปโตฯ ของ JTS เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ราคาของเหรียญบิตคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน และภาคธุรกิจถึงทิศทางและโอกาสในการเข้าไปลงทุน โดย JTS ถือเป็นภาคเอกชนรายต้นๆที่ประกาศแผนธุรกิจดังกล่าวออกมา ส่วนลำดับถัดไปของ JTS นั่นคือ การฝากความหวังในการพลิกฟื้นผลประกอบการของบริษัทแม่อย่าง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เมื่อผู้บริหารยานแม่ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผลประกอบการของ JAS ในปี 2565 ว่า น่าจะขาดทุนสุทธิต่อจากปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1.5 พันล้านบาท แต่บริษัทยังเดินหน้าแผนปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่า 700 ล้านบาท โดยคาดว่าปี 2566 ผลประกอบการน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างชัดเจน

พร้อมกันนั้น บริษัทพยายามหารายได้เพิ่มในพอร์ตอื่นๆ จากบริษัทในกลุ่ม นั่นคือ JTS ที่มาจากธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ นอกเหนือจากรายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) ที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทสัดส่วนราว 93% ซึ่งคาดว่าจะลดสัดส่วนลงไปในอนาคต หลังจากรายได้ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ของ JTS เติบโตได้ตามแผน รวมทั้งบริษัทยังได้เพิ่มรายได้จากอินเทอร์เน็ตทีวีที่ต่อยอดจากธุรกิจ Broadband ด้วย

ย้อนกลับมาที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่นำโดย “พิชญ์ โพธารามิก” (ถือหุ้น JTS ในนามตัวเอง 9.59%) และเมื่อรวมกับการถือหุ้นผ่านบริษัทในเครือตั้งแต่ JAS, บริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด และบริษัท ที.เจ.พี.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สัดส่วน 9.05% และอื่นๆ คาดว่า “พิชญ์ โพธารามิก” จะถือหุ้นใน JTS ประมาณ 228.69 ล้านหุ้น หรือ 32.37% เป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ถือเป็นความมั่งคั่งที่สุดพรรณนา และแทบจะแซงบัลลังก์แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ซึ่งถือครองหุ้นด้วยมูลค่ารวม 1.7 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี แผนการระดมทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมโหฬารมาทำเหมืองขุดบิตคอยน์ มีเสียงที่ท้วงติงมาจากที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ซึ่งเห็นว่า จากการพิจารณาถึงความเสี่ยงและความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนดังกล่าว ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์มีตัวแปรที่ JTS หรือ JASTEL ไม่สามารถควบคุมได้ และมีนัยสำคัญต่อกระแสเงินสดประกอบด้วย มูลค่าของบิตคอยน์ในอนาคต อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์ต่อบาทไทย จำนวนแฮชรวมของเครือข่าย (Total Network Hash Rate) ของเครื่องขุดบนเครือข่ายบิตคอยน์ทั้งหมด อัตราค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม (Transaction Fee) ของบิตคอยน์ที่ผู้ขุดจะได้รับ

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสมการ หรือกฎระเบียบ หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ก็มีผลต่อการขุดบิตคอยน์อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับเหรียญบิตคอยน์เองนั้นไม่มีมูลค่าพื้นฐาน (Fundamental Value) ที่ชัดเจน ราคาของเหรียญบิตคอยน์ในปัจจุบันจึงเป็นราคาตลาดที่มีสมมติฐานจากความเป็นไปได้ของมูลค่า จากประโยชน์ที่อาจมี หรืออาจไม่มีของบิตคอยน์ในอนาคต (Future Value of Utility of Bitcoin)

ทำให้ IFA จึงไม่สามารถประเมินมูลค่ายุติธรรมในการลงทุนธุรกิจการขุดเหรียญบิตคอยน์ในครั้งนี้ได้ และเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงและผลกระทบของความผันผวนของตัวแปรต่างๆ แล้ว IFA เห็นว่า โครงการลงทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงที่สำคัญที่ JTS หรือ JASTEL ไม่สามารถควบคุมได้ซึ่งมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ 



กำลังโหลดความคิดเห็น