xs
xsm
sm
md
lg

4 หุ้นกลุ่มแบตฯ-EV ได้เฮ รับคลังเล็งออกมาตรการหนุนธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเซียพลัส ระบุ 4 หุ้นกลุ่มแบตฯ ฃ-สถานีชาร์จ EA-GPSC-BANPU และ BCPG เตรียมเฮ หลังรัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยหนุนผู้ประกอบการ EV ฟากผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จไฟ ทั้งลดภาษีสรรพสาทิต อัตราอากรศุลกากร และให้เงินอุดหนุน มองรับอานิสงส์เต็มๆ

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลกำลังพิจาณามาตรการช่วยผู้ประกอบการธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในภาคผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จไฟ จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการลดภาษีให้กลุ่มยานยนต์ไปแล้ว โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งสถานีอัดประจุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของไทย ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น 4 ปี ตั้งแต่ปี 65-68 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งในเรื่องการการลดภาษีสรรพสาทิต การลดอัตราอากรศุลกากร และการให้เงินอุดหนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเลือกซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในราคาจับต้องได้

โดยกรมสรรพสามิตคาดว่าภายในปี 65 จะมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการกับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย ล่าสุด กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีแผนจะจำหน่ายรถไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้

ASPS เชียร์ 4 บจ. EA-GPSC-BCPG-BANPU รับอานิสงส์

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า เห็นสัญญาณในการที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์เซ็นสัญญารับสิทธิประโยชน์ต่างๆ กับภาครัฐในการนำเข้ารถยนต์ EV เข้ามาขาย แลกกับการต้องมาตั้งฐานการผลิตรถ EV ในประเทศไทยในอนาคต โดยก่อนหน้านี้เป็นค่าย GWM และ MG ล่าสุด เป็นค่ายใหญ่ของญี่ปุ่นได้แก่ Toyota ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในประเทศไทย

สำหรับสถานะของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 64 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 92.7%yoy มาอยู่ที่ 5.8 พันคัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ทุกประเภทของไทยปี 64 โดยมียอดสะสมที่ 1.1 หมื่นคัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.03% ของจำนวนรถสะสมทุกประเภทของไทยในปัจจุบันที่ 42.3 ล้านคัน

โดยในส่วนของแบตเตอรี่ ASPS ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าต่อจากนี้ โดยมีผู้ประกอบการในไทย นำโดย EA ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ phase 1 ขนาด 1 พัน MWh ส่วนระยะถัดไปมีแผนขยายการผลิตไปให้ถึง 4.9 หมื่น MWh

ถัดมาได้แก่ GPSC ผ่านการร่วมทุนกับ PTT โดยจัดตั้งบริษัท NUOVO PLUS (สัดส่วนถือหุ้น 49:51) ซึ่งปัจจุบัน NUOVO PLUS มีโรงผลิตแบตฯ กำลังการผลิตรวม 141 MWh ทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน และร่วมลงนาม MOU กับ Foxconn เพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับจัดตั้งโรงงานผลิต Platform และส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาด EV ในอนาคต ผ่านการจับมือกับ Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวันร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานผลิต Platform และส่วนประกอบสำคัญสำหรับ EV ในประเทศไทย

ส่วนการผลิตแบตเตอรี่มีบริษัทลูก GPSC ที่มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ 30.0 MWh มาพัฒนาและทดลองใช้ภายในกลุ่ม PTT นอกจากนี้ GPSC ยังได้เข้าถือหุ้น 11.1% ในบริษัท AXXIVA ประเทศจีน ซึ่งกำลังก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ 1.0 พัน MWh เพื่อนำมาใช้สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน คาด COD ได้ภายในปี 2566

นอกจากนี้ ยังมี BANPU NEXT (BANPU และ BPP ถือหุ้นบริษัทละ 50%) เข้าลงทุน 47% ใน Durapower ประเทศจีน มีโรงงานรองรับการผลิตแบตเตอรี่ได้ 1.0 พัน MWh สำหรับใช้ทั้งในอุตสาหกรรม EV และระบบกักเก็บพลังงาน

รวมถึง BCPG ซึ่งมีโครงการนำร่องโดยการนำแบตเตอรี่ 1.4 MWh มาใช้กักเก็บพลังงานในการผลิตไฟฟ้า และได้เข้าซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพบริษัท VRB ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานในประเทศจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น