นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างกรมสรรพสามิตกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯ มีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินมาตรการ ดังนี้
1) ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยการใช้มาตรการทางภาษี ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิต และการลดอากรศุลกากร และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ได้แก่ การให้เงินอุดหนุน (มาตรการระยะสั้น ปี 2565 ถึง 2568)
2) สนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงใกล้เคียงกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน
3) สร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
4) ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเกิดภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า GWM รุ่น ORA GOOD CAT และ MG รุ่น MG EP และ MG ZS นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการ มียอดจองกว่า 600 คัน ประกอบด้วย VOLVO มียอดจองจำนวน 385 คัน BMW มียอดจองจำนวน 112 คัน MINI มียอดจองจำนวน 58 คัน Porsche มียอดจองจำนวน 58 คัน Nissan มียอดจองจำนวน 19 คัน Audi มียอดจองจำนวน 10 คัน และ TAKANO มียอดจองจำนวน 6 คัน จากสถิติที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตามแนวทางที่รัฐบาลวางรากฐานไว้ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ZEV (Zero Emission Vehicle) โดยเฉพาะเป้าหมายการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์กระบะในปี 2030 (พ.ศ. 2573) คิดเป็นร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า วันนี้ (29 เม.ย.) กรมสรรพสามิตได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่มขึ้น 1 ราย คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยบริษัทฯ มีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิการลดอากรศุลกากร การลดภาษีสรรพสามิต และการรับเงินอุดหนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคตามที่ได้กล่าวข้างต้น ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2565 จะมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการกับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ก่อให้เกิดอุปสงค์ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งเกิดการลงทุน การจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตต่อไป