xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซีเปิดเวทีเสวนา แนะรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามบนโลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) จัดเสวนา "KTC FIT Talks" รับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ ปันความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อให้คนไทยพร้อมรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามต่างๆ บนโลกไซเบอร์ที่กำลังทวีความรุนแรง ควบคู่การบริหารเพื่อป้องกันการทุจริตด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย 4 องค์ประกอบหลัก บุคลากร กระบวนการ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการข้อมูล พร้อมแนะวิธีสังเกตและป้องกันการทุจริตบนออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ

นายไรวินทร์ วรวงษ์สถิตย์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ควบคุมงานปฏิบัติการและงานปฏิบัติการร้านค้า “เคทีซี” กล่าวว่า ธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์ในปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็ว โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าและบริการบนอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมสูงต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม 9.79% ต่อปี ในช่วงปี 2560-2564 ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า มีจำนวนผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านอี-ฝมาร์เก็ตเพลส มากที่สุด ในขณะที่ผู้ขายนิยมขายสินค้าผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซมากที่สุด

สำหรับช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.แอปพลิเคชันของธนาคาร 2.ชำระเงินปลายทาง 3.ชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต 4.โอนหรือชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร และ 5.ชำระด้วยวอลเล็ตของแพลตฟอร์ม นอกเหนือจากการชำระค่าสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์แล้ว นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกหนึ่งบริการที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นคือ การซื้อขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออนไลน์ เช่น บิตคอยน์ หุ้นและกองทุนรวม เป็นต้น

"เมื่อมีช่องทางการใช้ที่หลากหลายขึ้น ก็มีมุมที่ต้องระวังเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่เคทีซีให้ความสำคัญสูงสุดคือ ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้สมาชิกในการทำทุกธุรกรรมการเงิน ด้วยการพัฒนาระบบบริหารการป้องกันภัยทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ผ่าน 4 องค์ประกอบหลักคือ บุคลากร สร้างทีมงานที่มีศักยภาพในการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงกระบวนการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานเพื่อสามารถตรวจจับและป้องกันเหตุทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบ และการบริหารจัดการข้อมูลให้ทันต่อสถานการณ์ที่เข้ามาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา"

นายนพรัตน์ สุริยา ผู้จัดการ-ควบคุมและป้องกันการทุจริต เคทีซี กล่าวว่า การรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถร่วมป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ โดย 1.ระมัดระวังไม่หลงเชื่ออีเมลลวง 2.ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่น่าเชื่อถือ 3.ตั้งการแจ้งเตือนเมื่อมีการทำธุรกรรมผ่าน SMS หรือให้อีเมลกับธนาคารและสถาบันการเงิน 4.ล็อกเอาต์ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน ในส่วนของสมาชิกเคทีซี แนะนำให้เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลด้วยการดาวน์โหลดและใช้แอปพลิเคชัน “KTC Mobile” เริ่มต้นล็อกอินด้วยรหัสผ่าน 6 หลัก ยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบผ่านการสแกนลายนิ้วมือ

นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรทุกรายการ และยังสามารถกำหนดยอดใช้จ่ายที่ต้องการ พร้อมตั้งเตือนก่อนวันชำระ รวมทั้งบริการจำเป็นอื่นๆ ที่ลูกค้าสามารถตั้งค่าทำรายการได้ด้วยตนเอง เช่น การอายัดบัตรชั่วคราว การกำหนดวงเงินและการขอวงเงินชั่วคราว อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการปรับข้อความเมื่อส่งรหัสผ่านสำหรับใช้ครั้งเดียว หรือ OTP โดยย้ำเตือนให้สมาชิกระมัดระวังการแจ้งรหัสให้บุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตเข้าถึงบัญชีอีกด้วย

"เคสการหลอกลวงต่างๆ ที่เราพบกันบ่อยคือ การหลอกให้ทำรายการด้วย OTP ในจุดนี้ลูกค้าต้องอ่านรายละเอียดที่กำกับมากับ OTP ด้วยว่าใช่รายการที่เราทำอยู่หรือไม่ หรือเมื่อโหลดแอปพลิเคชัน หรือเกมออนไลน์แล้วขอเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของเรา สิ่งที่เราทำได้คือต้องหยุดพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลในการขอข้อมูล ความจำเป็นที่ต้องใช้แอป หากเป็นการขอข้อมูลเกินความจำเป็นควรหลีกเลี่ยง อีกกรณีที่พบมากคือการส่งอีเมล หรือ SMS หลอกให้ทำธุรกรรมต่างๆ ควรติดต่อกับต้นตอของธุรกรรมดังกล่าวโดยตรงจะปลอดภัยกว่า อันนี้ต้องใช้วิจารณญาณก่อนว่าจะให้ข้อมูลหรือทำธุรกรรม ซึ่งการติดต่อต้นตอของคู่กรณีจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้มาก และควรดูข้อมูลจากหลายแหล่ง อย่างของเคทีซีเองมีทั้งส่วนของแอป และ SMS เพื่อความมั่นใจในการทำธุรกรรม ดังนั้น ควรมีแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินที่ใช้เพื่อให้สามารถรับข่าวสารหรือตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ทันท่วงที"
กำลังโหลดความคิดเห็น