Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิเตลาดที่ระดับ 33.58 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ และคาดการณ์กรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.45-33.65 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่กรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้คาดการณ์ที่ระดับ 33.30-33.80 บาท/ดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยและเร่งลดงบดุล
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ต้องระวังความผันผวนในช่วงวันหยุดยาวจากปริมาณธุรกรรมที่อาจเบาบางลง อย่างไรก็ดี เราคงมองเงินบาทแกว่งตัว “sideways” จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ โดยควรติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในไทยหลังเทศกาลสงกรานต์ ที่อาจมีผลกระทบต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นได้ อนึ่ง เงินบาทยังคงมีแนวต้านในโซน 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนผู้นำเข้ายังคงรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วง 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้นประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง หากผลการเลือกตั้ง ปธน. ฝรั่งเศสรอบแรกมีความสูสีกันมาก ทำให้ตลาดกังวลว่า ปธน. เอมมานูเอล มาครง อาจเผชิญความเสี่ยงที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในรอบที่ 2 ได้ อนึ่ง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจจำกัด ถ้า ECB ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
ด้านฝั่งเอเชียตลาดคาดว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในจีนระลอกใหม่ที่รุนแรงจะกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมีนาคม ที่ระดับเพียง 1.3% ชี้ว่าผู้ประกอบการยังไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมีนาคม จะพุ่งขึ้นกว่า +8.1%y/y) ไปยังราคาผู้บริโภคได้ เนื่องจากการบริโภคยังฟื้นตัวได้ไม่ดี นอกจากนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) เดือนมีนาคมจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือ +8.6%y/y เช่นเดียวกันกับยอดการส่งออก (Exports) ที่จะโตเพียง +13%y/y จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 และปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียอาจชะลอลง แต่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% หลัง BOK ยังคงมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและมองว่าการทยอยขึ้นดอกเบี้ยนั้นมีความจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและคุมปัญหาเงินเฟ้อ