กรมสรรพากรขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หักค่าใช้จ่ายได้ 1.25 เท่า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก คาดว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี (68,978 ตัน) ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 689,785 ตัน ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN”
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพ เพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ลดปริมาณการใช้พลาสติกที่จะกลายเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ยากอย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ) โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่กำหนด และได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มาหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มอีกเป็นจำนวนร้อยละ 25 สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพออกไปจากที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยลดทุนและส่งเสริมให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ รวมทั้งประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ลดปริมาณขยะและสิ่งตกค้างที่ไม่ย่อยสลาย ส่งผลดีในเรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161