บล.โกลเบล็ก ประเมินหุ้นไทยยังแกว่งตัวแคบ ขาดปัจจัยใหม่หนุน ส่วนสถานการณ์รัสเซียและยูเครนยังไร้วี่แววจบ บวกความกังวลเกี่ยวกับ Inverted yield curve ที่คุกรุ่นมากขึ้น จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ 1,680-1,720 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนใน 5 หุ้นรับอานิสงส์ ศบค. เตรียมหารือปลดล็อกมาตรการเข้าประเทศ 1 มิ.ย.นี้ ชู AOT-ERW-CENTEL-MINT-AWC
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นว่ายังแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบ โดยยังขาดปัจจัยใหม่เข้าหนุนตลาด ขณะที่ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติยังไหลเข้าต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงเป็นผลดีต่อต้นทุนของบริษัทจดทะเบียน ทำให้คาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ในกรอบ 1,680-1,720 จุด
ขณะที่ Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 73.3% ที่คาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค.2565 ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน มี.ค.ของจีนลดลงสู่ระดับ 48.1 จากระดับ 50.4 ในเดือน ก.พ. โดยดัชนี PMI เดือน มี.ค.หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2563
ด้านมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนในปี 2565 ส่วนซิตี้ กรุ๊ปเองได้เตือนว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเผชิญกับความเสี่ยงใน 2Q65 เนื่องจากรัฐบาลประกาศใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 กรณีล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ทาง WHO เปิดเผยว่า โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XE ตัวใหม่ล่าสุดของโอมิครอนจะสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่า BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนราว 10%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง เช่น กระทรวงพาณิชย์แถลงสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) แถลงสถานการณ์การส่งออก การประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) การรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค. สหรัฐฯ เปิดเผยยอดนำเข้า ส่งออก และดุลการค้าเดือน ก.พ. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน มี.ค. และดัชนีภาคการผลิตเดือน มี.ค. จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน มี.ค. อียูเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. สหรัฐฯ เปิดเผยสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุม (เช้าวันที่ 7 เม.ย.) และจีน เปิดเผยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือน มี.ค. สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมทั้งสถานการณ์ความยืดเยื้อของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน และความกังวลเกี่ยวกับ Inverted yield curve ที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจชะลอตัวได้
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการที่ ศบค.เตรียมประชุมเพื่อหารือการปลดล็อกมาตรการเข้าประเทศทุกเงื่อนไข 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งรวมทั้งเลิก ThailandPass, Test&Go ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสกลับมาคึกคักได้ ซึ่งหุ้นที่ได้อานิสงส์จากปัจจัยบวกดังกล่าวได้แก่ AOT, ERW, CENTEL, MINT และ AWC
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังกดดันต่อราคาทองคำในขณะนี้ยังคงเป็นความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งคาดการณ์ว่ารัสเซียจะตรึงกำลังประชิดติดกรุงเคียฟไว้ จึงทำให้สงครามจ่อยืดเยื้อ และตัวประกันที่สำคัญสำหรับรัสเซียคือน้ำมันดิบ ที่ยังมีบทบาทอยู่มากต่อเงินเฟ้อสะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวระดับสูง หากเฟดยังไม่ส่งสัญญาณเพิ่มเติมที่มากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในครั้งหน้า สงครามและราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นจะเป็นแรงหนุนทองคำ
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าสงครามรัสเซียและยูเครนส่อยืดเยื้อ อีกทั้งเฟดอาจจะยังไม่รีบส่งสัญญาณเชิงลบต่อตลาดเพิ่มเติม โดยเรามีมุมมองบวกต่อทองคำคาดการณ์การเคลื่อนไหวในกรอบ 1,880-1,960$/oz หากย่อตัวไม่หลุดแนวรับทยอยเข้าซื้อสะสม