สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กำลังพิจารณาที่จะขายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย หรือ KAsset ที่มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 67,000 ล้านบาท
ด้วยมูลค่าดังกล่าว หากเทียบกับกำไรที่ KAsset ทำได้ในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุดที่ 2,800 ล้านบาท หมายความว่าธุรกิจ KAsset ถูกประเมินมูลค่าด้วย P/E สูงถึง 24 เท่า ซึ่งมากกว่า P/E ของธนาคารกสิกรไทยเองที่ซื้อขายกันอยู่ที่ 10 เท่า สำหรับแนวทางการขายกิจการอาจจะเป็นได้ทั้งขายทั้งหมด หรือ ขายหุ้นบางส่วนใน KAsset
ซึ่งเหตุผลสำคัญเพื่อต้องการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน KAsset มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ราว 1.6 ล้านล้านบาท
ปัจจุบัน KAsset มีส่วนแบ่งตลาดในด้านทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 18% ของตลาด ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
โดย KAsset มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในประเภทกองทุนรวม อันดับ 2 ในประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทั้งนี้ สำนักข่าว Bloomberg ได้ระบุว่าการพิจารณาขายกิจการ KAsset ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแต่อย่างใด
ซึ่งดีลที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ คือดีลที่ Eastspring ได้ซื้อหุ้น 65% ของ TMBAM จากธนาคารทหารไทย เมื่อ 4 ปีก่อน ก่อนที่ธนาคารทหารไทยจะควบรวมกับธนาคารธนชาตเป็น TTB
เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าติดตาม และเราจะเห็นได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยกำลังใช้กลยุทธ์หลายรูปแบบในการปลดล็อกมูลค่ากิจการ
ที่เห็นได้ชัดคือ คู่แข่งอย่าง SCB ที่ใช้วิธีคล้ายกัน ที่ก่อนหน้านี้ได้ขายธุรกิจประกันชีวิต SCB Life ให้บริษัท FWD มูลค่า 92,700 ล้านบาท แล้วผันตัวเองเป็นเพียงนายหน้าประกัน หลังจากนั้น SCB ก็แปลงร่างเป็น SCBX เพื่อคอยลงทุนในธุรกิจอื่นๆ นอกจากธนาคาร
มาวันนี้ข่าวเรื่อง KBANK พิจารณาขายหุ้น KAsset ก็อาจเป็นแนวคิดที่คล้ายกันคือ ธนาคารในยุคนี้จะพยายาม “ไม่โอบกอดทุกธุรกิจไว้เป็นของตัวเอง” ในทางตรงกันข้าม เขาจะหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญธุรกิจนั้นจริงๆ เพื่อความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นในอนาคต
ส่วนตัวธนาคารผันตัวเองไปโฟกัสสิ่งที่ตนเองได้เปรียบนั่นคือ “การมีลูกค้าจำนวนมากที่เปิดบัญชีกับธนาคาร” ดังนั้น การหาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะมาจากค่ายไหน น่าจะเป็นสิ่งที่ธนาคารที่รู้ตัวทัน จะดำเนินกลยุทธ์ต่อไป
การขายธุรกิจเป็นได้ทั้งขายบางส่วน หรือแม้กระทั่งขายทั้งหมด เพื่อผันตัวเองไปเป็นตัวกลางหรือนายหน้า
ซึ่งในอนาคตคงไม่แปลก ถ้าเราเข้าแอปธนาคาร แล้วจะมีผลิตภัณฑ์ของต่างธนาคารมาให้เลือก (ซึ่งวันนี้เริ่มได้เห็นกันบ้างแล้วในบางแอป)
กลับกลายเป็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จะไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้เล่น FinTech หน้าใหม่ที่ก่อนหน้านี้พยายามใช้จุดเด่น บอกว่าตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เลือกค่าย สามารถซื้อผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ ได้จากทุกธนาคาร กองทุน ประกัน
มาวันนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างจากตัวธนาคารเอง ว่า เขาพร้อมที่จะยอมสละบางส่วน มองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และรักษาลูกค้าไว้ให้อยู่กับธนาคาร
จริงๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ในตอนที่ธนาคารยอมลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0 บาท ทำให้ลูกค้าธนาคารไม่เห็นความจำเป็นจะต้องไปใช้แอปอื่นในการโอนเงิน
ตั้งแต่วันนั้นมา เหมือนเป็นการปิดประตูหลาย FinTech ในไทยไม่ให้เกิดได้อีกเลย