ก.ล.ต.และ ธปท.ออก 6 หลักเกณฑ์กำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยประเด็นหลัก "ห้ามเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าหรือบริการ" ซึ่งมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.65 โดยผ่อนปรนเงื่อนไขยืดหยุ่นให้ ด้วยการขยายเวลาจาก 15 วัน เป็น 30 วัน แนะผู้ประกอบการเร่งแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ ชี้เงื่อนไขดังกล่าวไม่กระทบการลงทุน
นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวหลังที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment : MoP) ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2565) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยระบุว่า ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ทำการเฝ้าระวังและตรวจสอบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเห็นถึงตัวเร่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าและบริการที่มีการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น โดยตัวเร่งดังกล่าวมาจากการทำธุรกรรมทางการเงินที่ง่ายขึ้น มีการสแกนคิวอาร์โค้ดชำระค่าสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตซึ่งการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนหรือผู้ลงทุนและธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ทาง ก.ล.ต.และ ธปท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลมีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลในครั้งนี้ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทจะต้องไม่ให้บริการ สนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ใน 6 ข้อ ได้แก่
1.ไม่โฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมเป็นผู้ให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
2.ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าและบริการ
3.ไม่เปิด Wallet เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
4.ไม่ให้บริการโอนเงินบาท ซึ่งเป็นการโอนจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีของบุคคลอื่น
5.ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีอื่น
6.ไม่ให้บริการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
ขณะเดียวกัน สำหรับหลักเกณฑ์กำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้วพบว่าเข้าค่ายผิดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยผ่อนปรนในการขยายเวลา จากเดิม 15 วัน เป็น 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ดีหากลูกค้ามีบัญชีที่เปิดไว้สำหรับซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อนำไปใช้ในการชำระสินค้าและบริการให้ผู้ประกอบการ ทาง ก.ล.ต.จะมีการส่งข้อความเพื่อแจ้งเตือน หากลูกค้ายังดำเนินการอยู่อาจถูกดำเนินการตามกฏหมาย รวมถึงถูกระงับการใช้บริการชั่วคราว หรือยกเลิกการให้บริการ
“ตามประกาศของ ก.ล.ต. ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่สามารถให้บริการอำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าหรือบริการเองแล้ว นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตรวจสอบบัญชีต่างๆ ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายการใช้บัญชีเพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาและขายออกทันที หรือการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกไปและกลับเข้ามาในอีกบัญชีในตัวเงินใกล้เคียงกัน” นายสุรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นายพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการอาจทำให้เกิดผลกระทบ 2 กลุ่มคือ ประชาชนและผู้ประกอบการที่ราคาอาจผันผวน เนื่องจากยอดการใช้จ่ายของผู้ซื้อหรือรายรับของผู้ขายมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการฟอกเงินและเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม และอีกกลุ่มคือระบบเศรษฐกิจการเงินซึ่งเป็นผลกระทบใหญ่ที่ทำให้แบงก์ชาติจะไม่สามารถเข้ามาดูแลภาวะการเงินได้ เนื่องจากคนจะถือครองเงินบาทน้อยลง ซึ่งแบงก์ชาติไม่สามารถปล่อยสภาพคล่องในรูปแบบที่ไม่ใช่เงินบาทได้
อย่างไรก็ดี ทาง ก.ล.ต.และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หลักเกณฑ์ร่วมที่ออกมานี้จะเป็นการกำกับดูแลผู้ประกอบการเป็นหลัก ในส่วนของนักลงทุนยังสามารถลงทุนได้ตามปกติเนื่องจากจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนแต่อย่างใด