น.ส.จอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะพร้อมใช้ หรือ utility token พร้อมใช้ภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขาย ผู้ลงทุนให้มีข้อมูลเพียงพอ โปร่งใส รวมทั้งมีกลไกกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดรองที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แนวทางการกำกับดูแลดังกล่าว เบื้องต้น ก.ล.ต.มีแนวคิดที่จะกำกับดูแลในลักษณะที่กำหนดให้ผู้ออกเสนอขาย (issuer) ที่ต้องการจะนำ "utility token พร้อมใช้" ไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย ต้องขออนุญาตเสนอขายกับ ก.ล.ต. และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดให้ศูนย์ซื้อขายมีการเปิดเผยข้อมูลและกำกับดูแลความเสี่ยงในการซื้อขายเพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องไม่เข้าข่ายเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อให้ผู้ซื้อขายมีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจในการเข้าไปซื้อขาย และไม่ถูกเอาเปรียบ
"หากผู้ออกเสนอขาย utility token พร้อมใช้ ไม่ได้มาขออนุญาตเสนอขายกับ ก.ล.ต. และไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย (ตลาดรอง) ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จะไม่สามารถไปกำกับดูแลในส่วนนี้ได้ แต่ทางศูนย์ซื้อขายสามารถ Delete เหรียญทิ้งได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดโทษกับผู้ซื้อขาย ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะต้องเข้ามากำกับดูแลตั้งแต่ออกเหรียญ การทยอยออกเหรียญ ตลอดจนการปรับปรุง Whitepaper ให้ทันต่อเหตุการณ์ และไม่ปกปิด ไม่เป็นเท็จ ซึ่งยืนยันว่าสิ่งที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังเดินไปทางนี้ อยากให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ซื้อขายมากที่สุด" น.ส.จอมขวัญ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่ได้ปิดกั้นนวัตกรรม โดย utility token พร้อมใช้ ทุกประเภทสามารถเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายได้ แต่บางกรณีที่เมื่อเข้ามาซื้อขายแล้วอาจจะมีลักษณะเข้ามาเก็งกำไร ทำให้หลักคิดของสำนักงาน ก.ล.ต.คือการเปิดเผยข้อมูลเป็นตัวตอบโจทย์ รวมถึงในทางกฎหมาย การเปิดเผยข้อมูลที่ดีที่สุดคือต้องมาขออนุญาตเสนอขายกับ ก.ล.ต.
นอกจากนี้ หากมีการออกเสนอขายเหรียญโดยไม่ได้นำไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย และมีการขายเหรียญอย่างตรงไปตรงมาชัดเจน สำนักงาน ก.ล.ต.จะไม่มีการกำกับดูแล แต่อาจจะมีเกณฑ์ที่ออกมากำหนดเงื่อนไขเหรียญที่ไม่ได้ซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือน เม.ย.นี้เช่นกัน
สำหรับการขออนุญาตเสนอขายจาก ก.ล.ต.จะแบ่งลักษณะคำขออนุญาตออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1.Fast track คือ ได้รับพิจารณาเร็วกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการออกเหรียญให้ถูกลง โดยเหรียญที่เข้าเกณฑ์จะต้องเป็นเหรียญที่ไม่มีความซับซ้อน เข้าใจง่าย มีสินค้ารองรับอย่างชัดเจน มีมูลค่าการออกที่เหมาะสมและเป็นเหรียญที่นำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค
2.Normal track คือ การยื่นขอแบบรอเวลาตามปกติ ซึ่งจะใช้ต้นทุนในการออกหลักทรัพย์ที่แพงกว่า Fast track โดยเหรียญที่เข้าเกณฑ์จะมีลักษณะที่ตรงข้ามกับ Fast track หรือเรียกว่ามีความซับซ้อนมากกว่า จะใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบนานขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขอนุญาตเสนอขายเหรียญจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) เพื่อยื่นไฟลิ่ง (Filling) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งจะคล้ายกับการที่มายื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเปรียบ ICO Portal เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ก่อนมาถึงสำนักงาน ก.ล.ต.ว่าไม่เอาเปรียบผู้ซื้อขาย และมีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจน รวมถึงยังมีเกณฑ์ที่กำกับไปถึงศูนย์ซื้อขายด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง Whitepaper หากมีการกระทบกับสิทธิต้องแจ้งให้ทางผู้ซื้อขายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น
ด้านผู้เสนอขาย utility token พร้อมใช้ ที่มีความกังวลว่าหากต้องผ่าน ICO Portal จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการออกเหรียญ เนื่องจากอาจใช้ระยะเวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน รวมถึงความพร้อมของ ก.ล.ต.ต่อการตรวจสอบไฟลิ่ง เนื่องจากหากมีความต้องการเสนอขายเหรียญจำนวนมากอาจทำให้การทำงานของ ก.ล.ต.ล่าช้าออกไป จนไม่ทันต่อสถานการณ์ โดยในส่วนนี้ได้เสนอให้สำนักงาน ก.ล.ต.ขยายงานไปให้ศูนย์ซื้อขายเพื่อลดภาระงานดังกล่าว
น.ส.จอมขวัญ กล่าวว่า กรณีต้นทุนที่จะเกิดกับผู้ออกและเสนขายเหรียญนั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จะนำเรื่องไปหารือกับทาง ICO Portal อีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถลดราคาสำหรับการออกเหรียญแบบง่ายได้หรือไม่ อีกทั้งจำนวน ICO Portal ในปัจจุบันมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งเป็นโจทย์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.พิจารณาต่อไป
อีกทั้งยอมรับว่าหากมีผู้ที่ต้องการออกและเสนอขายเหรียญจำนวนมากอาจจะทำให้การทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต.ล่าช้าไปจริง มองการขยายงานในส่วนการออกเหรียญแบบง่าย ไม่ซับซ้อน ไปให้ทางศูนย์ซื้อขายเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแทนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ปัจจุบัน ICO Portal ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตเพิ่มเติมอีกกว่า 10 ราย