นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า จากสถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่แม้จะเบาบางไปบ้างแล้วแต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ รวมถึงความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัสเซียนกับยูเครน และยังมีความไม่แน่นอนที่การคว่ำบาตรจะรุนแรงขึ้น มีความยืดเยื้อหรือบานปลายไปสู่จุดไหน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทั้งจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้ทิศทางอัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้น สวนทางทิศทางจีดีพีปักหัวลง
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมานั้นเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่าในปีนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 7-8 ครั้ง เนื่องจากเฟดมองว่าปัญหาเงินเฟ้อที่สูงไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่มองว่าหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป ในขณะที่เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากฝั่งของอุปทานมากกว่า จะทำให้กระทบต่อฟากอุปสงค์ไปด้วย และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น
นายกอบสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ด้านเศรษฐกิจไทย คงจะต้องมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เช่นกัน โดยจากทิศทางที่เริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ทื่คลี่คลายลงบ้าง แต่กลับต้องมาเจอกับภาวะสงครามซ้ำเติม ซึ่งจะส่งผลในหลายด้าน โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงาน ต้นทุนสินค้าแพงขึ้น และทำให้กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน แม้จะมีมาตรการของรัฐออกมาช่วยบ้างแต่บรรเทาได้เป็นบางกลุ่ม เพราะฉะนั้นระดับคาดการณ์จีดีพีเติบโตเดิมที่ศูนย์วิจัยมองไว้ 3.7% นั้นโดยส่วนตัวมองว่าสูงไป แต่ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ 2.2% นั้นถือว่าสมเหตุสมผล เพราะอัตราเงินเฟ้อนั้นไม่น่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะระดับราคานั้นเมื่อสูงถึงระดับหนึ่งคนสู้ไม่ไหวจะหยุดซื้อ หันมาประหยัดแทน และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สำหรับค่าเงินบาทนั้น มองว่าในระยะ 2-3 เดือนนี้มีทิศทางอ่อนค่าลง เนื่องจากคาดการณ์ว่าในปีนี้ไทยน่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องอีก 1 ปี เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวอาจจะกลับมาได้ไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้จากสถานการณ์สงคราม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรปที่เป็นกลุ่มหลักมีสัดส่วนประมาณ 70% ที่เข้ามาในช่วงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากสงคราม ขณะที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าน้ำมันค่อนข้างมาก และในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.เป็นช่วงที่บริษัทในไทยต้องจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับ 75,000 ล้านบาท ดังนั้น ประเมินกรอบเงินบาทในระยะ 1 เดือนข้างหน้าที่ 32.90-34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ