นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า จากการคว่ำบาตรระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 และอาจจะลุกลามไปสู่การคว่ำบาตรเรื่องพลังงาน ทั้งแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ในขณะที่การผลิตน้ำมันไม่เพียงพ่อต่อความต้องการน้ำมันได้ อีกทั้งมีการชะลอการผลิตลงจากหลากหลายส่วน ทำให้ทิศทางราคาพลังงานมีแนวโน้มขยับขึ้น ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล มีโอกาสจะขยับไปถึง 120 เหรียญต่อบาร์เรล และมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นไปได้อีก
ทางสำนักวิจัยได้ใช้แบบจำลองจาก Oxford Economics (ภาพประกอบ) เปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจ (GDP) ในแต่ละประเทศ บนสมมติฐานกรณีราคาน้ำมันดิบเบรนต์เฉลี่ยทั้งปีขยับขึ้น 50 เหรียญต่อบาร์เรล จากสมมติฐาน 100 เหรียญต่อบาร์เรล ไปที่ 150 เหรียญต่อบาร์เรล จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง GDP อย่างไรเมื่อเทียบกับกรณีฐานประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันสูงขึ้น คือ รัสเซีย และประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ขณะที่ประเทศที่ใช้น้ำมันมากๆ เช่น ไทย อินเดีย ประเทศในอาเซียน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ จะมีเศรษฐกิจที่ชะลอกว่าคาด นั่นคือ ชะลอกว่ากรณีฐานที่ราคาน้ำมัน 100 เหรียญต่อบาร์เรล แปลว่า ถ้าราคาน้ำมัน 150 เหรียญต่อบาร์เรล เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ เพียงแต่จะขยายตัวช้าลงกว่ากรณีฐาน เช่น ไทย อาจจะชะลอได้ 0.3% จากกรณีฐาน
ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่ารัสเซีย และประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูงจะไม่เร่งรีบเจรจา หรือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน จนทำให้ราคาน้ำมันย่อลงในทันที ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบคงต้องติดตามกันต่อไป ว่าราคาน้ำมันที่คาดกันว่าจะอยู่ระดับที่สูงเกิน 120 เหรียญต่อบาร์เรล จะทะยานขึ้นไปแตะระดับ 150 เหรียญต่อบาร์เรลหรือไม่ โดยคาดว่าจุดพีกจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2
สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจที่ชะลอลงมาจากราคาน้ำมันที่สูง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูง รวมทั้งเงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงจะสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้มีโอกาสที่ขึ้นไประดับ 4-5% และมีโอกาสที่เงินเฟ้อของไทยจะทะลุ 5% ได้จากราคาพลังงาน และราคาอาหารสดในช่วงไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ดี กรณีราคาน้ำมันพุ่งสูงเกิน 150 เหรียญต่อบาร์เรล คงเป็นสถานการณ์ชั่วคราวในไตรมาส 2 หลังจากนั้น ราคาน้ำมันน่าจะย่อลงจากการที่คนเริ่มหาพลังงานทางเลือกมากขึ้น แม้ GDP ของไทยยังขยายตัวในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา แต่มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้