xs
xsm
sm
md
lg

วีซ่าเผยผลสำรวจพบคนไทยเกือบ 9 ใน 10 กำลังก้าวสู่ชีวิตแบบไร้เงินสด-GenY-Zสนลงทุนคริปโตฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วีซ่า ผู้ให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ว่าเกือบ 9 ใน 10 ของคนไทยเลือกใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไร้เงินสด โดยเกือบครึ่ง หรือ 43% ของผู้ที่พยายามใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดสามารถอยู่ได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องพึ่งเงินสด ขณะที่ 79% ของกลุ่มที่ไม่เคยใช้จ่ายแบบไร้เงินสด บอกว่า พวกเขารู้สึกมั่นใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ในช่วง 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 11% เมื่อเทียบกับผลการศึกษาในปีที่ผ่านมา

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย
กล่าวว่า เมื่อดูผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งก่อนหน้า เราเห็นว่าตัวแปรหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยให้พึ่งพาเงินสดน้อยลง และก่อให้เกิดทัศนคติที่ดียิ่งขึ้นต่อการใช้จ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัลคือสถานการณ์โรคระบาด โดยจากการศึกษาพบว่า มากกว่า 3 ใน 5 หรือ 61% ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่าพวกเขาถือเงินสดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลัก 3 ประการที่ทำให้พวกเขาลดการใช้จ่ายด้วยเงินสด ได้แก่ การเลือกชำระแบบดิจิทัลมากขึ้น 77% ความกังวลเรื่องการติดต่อของโรคระบาดผ่านการถือเงินสด 54% และพวกเขาพบว่าจำนวนร้านค้าที่รับชำระแบบดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น 45%

"จากผลการศึกษาในปีนี้และการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายอุตสาหกรรม เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มกลายเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคเลือกที่จะทำด้วยตนเอง มากกว่าที่จะถูกผลักดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งหมายความว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จะถาวรและยั่งยืนมากขึ้น" นายสุริพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ หากมองถึงแนวโน้มในอนาคตแล้ว ผลสำรวจหมวดร้านค้า 5 อันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวไทยเห็นว่าจะดำเนินการแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ (67%) ชำระค่าบริการจ่ายบิล (64%) ซูเปอร์มาร์เกต (62%) ระบบขนส่งสาธารณะ (56%) และร้านขายอาหารและร้านอาหารแบบนั่งทานในร้าน (55%) ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงความคาดหวังของผู้บริโภคในการใช้ช่องทางชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลต่อร้านค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งวีซ่าจะนำผลการสำรวจดังกล่าวไปเป็นแนวทางในการขยายร้านค้าต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าต่อไปในอนาคตเช่นกัน

สำหรับการชำระเงินแบบไร้สัมผัสหรือคอนแทกต์เลส ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคใช้จ่ายได้อย่างง่ายดายเพียงแตะบัตรชำระเงิน หรือสมาร์ทโฟนที่จุดรับชำระ พร้อมมอบประสบการณ์ในการใช้จ่ายที่เหนือกว่าให้ผู้ใช้ ทั้งความรวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบาย ระบบชำระเงินแบบคอนแทกต์เลสกำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าปลีกทางกายภาพและการเดินทาง โดยในปัจจุบันผู้โดยสารผ่านระบบขนส่งในกรุงเทพฯ สามารถใช้บัตรเครดิตแบบคอนแทกต์เลสชำระค่าบริการได้แล้วที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง รวมถึงรถประจำทาง เรือไฟฟ้า และทางพิเศษโทลล์เวย์ และจากการศึกษายังพบอีกว่า เกือบ 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม (87%) มีการรับรู้เกี่ยวกับบัตรคอนแทกต์เลส โดยในกลุ่มของผู้ที่ยังไม่เคยใช้งานจำนวน 86% กล่าวว่า พวกเขาสนใจการชำระเงินรูปแบบนี้

สำหรับการชำระเงินโดยใช้คริปโต เคอร์เรนซีนั้น นายสุริพงษ์ กล่าวว่า ในประเทศที่เปิดให้ใช้สกุลเงินคริปโตฯ ในการซื้อสินค้านั้น แนวทางจะเป็นในรูปแบบการนำคริปโตฯ มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นนั้นๆ แล้วจึงนำไปชำระให้ร้านค้าอีกต่อหนึ่ง ขณะที่ประเทศไทยนั้น เราต้องมำตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังไม่อนุญาตให้ชำระด้วยสกุลเงินดิจิทัลในขณะนี้ โดยที่จากผลการสำรวจพบว่า 69% สนใจลงทุนในคริปโต เคอเรนซี โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y และ Gen Z 

"เรามองภาพรวมในปีนี้ดีขึ้นกว่าปีก่อน ภาคการท่องเที่ยวเริ่มมาหลังที่ไทยเริ่มเปิด Test & Go เริ่มเห็นจำนวนนักท่องเที่ยว เริ่มเห็นการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่เท่าช่วงก่อนโควิด แต่ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งมองว่าการที่ประเทศใดจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้นั้น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความพร้อม ซึ่งในประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง"

“วีซ่ามุ่งสร้างสรรค์เพื่อสร้างหนทางให้ทุกคนในทุกที่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล เราหวังว่าข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในประเทศไทยฟื้นตัว และเจริญเติบโตต่อไปได้ รวมทั้งยังช่วยปลดล็อกให้ผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายย่อย” สุริพงษ์ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น