เอแอลที เทเลคอม เร่งพัฒนาโครงข่ายต่างประเทศ รองรับความต้องการใช้บริการแบนด์วิธท์พุ่งสูง ปูพรม 15 จุดข้ามแดนครอบคลุมทั้งพม่า ลาว เขมร มาเลเซีย รวมถึงผนึกพันธมิตรเชื่อมต่อไปยังสิงคโปร์ เวียดนาม และฮ่องกง สอดคล้องนโยบายรัฐที่ผลักดันให้ไทยเป็น ASEAN Digital Hub ขณะที่สถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/2565
นายพิชิต สถาปัตยานนท์ กรรมการบริหาร บริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนนโยบายของภาครัฐ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่เพื่อขยายฐานธุรกิจให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมที่จำกัดอยู่แค่เพียงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจการด้านโทรคมนาคม โดยได้ขยายฐานธุรกิจเดิมให้รองรับและเชื่อมโยงไปถึงกิจการด้านพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ รวมถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ
การปรับวิสัยทัศน์ของบริษัท ทำให้มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันได้อย่างกว้างขวาง สามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีอยู่แล้ว รวมถึงสามารถขยายขอบการให้บริการครอบคลุมไปถึงลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
สำหรับโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสงซึ่งเป็นธุรกิจหลักแต่เดิม บริษัทได้วางโครงข่ายหลัก (Backbone Network) ลงทุนครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการสร้างสถานีฐาน 15 จุด เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายของผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมีการลงทุนผ่านกิจการร่วมค้า คือ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด (SIC) และบริษัทอินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (IH) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าภายในประเทศ และลงทุนผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IGC) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ได้มีการลงทุนผ่านบริษัทร่วมทุนคือ เมียนมาร์ อินฟอร์เมชั่น จำกัด (MIH) ที่เป็นกิจการในพม่าให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าในเมืองย่างกุ้ง
นายพิชิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพม่า ปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% โดยผลประกอบการของ IGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เป็นผู้ให้บริการแบนด์วิธท์ระหว่างประเทศแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีรายได้สูงขึ้นจากปริมาณการใช้งานแบนด์วิธด์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
โดยบริษัทได้วางเป้าหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ASEAN Digital Hub จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่มีความเหมาะสมเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อของภูมิภาคอาเซียน ทำให้ประเทศไทยสามารถวางโครงข่ายโทรคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญๆ ของโลกและเชื่อมต่อโดยตรงไปยังภูมิภาคอื่นได้ด้วยระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงภาคพื้นดินและระบบเคเบิลใต้น้ำ
โดย IGC ได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำและสถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสตูลเป็นโครงการแรกของ IGC ในธุรกิจให้บริการเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อเชื่อมต่อระบบเคเบิลใต้น้ำในโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศในส่วนของเส้นทางประเทศไทยฝั่งทะเลอันดามันไปยังจุดเชื่อมต่อในมหาสมุทรอินเดียเพื่อรองรับการเชื่อมโยงระบบสื่อสารระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย
ทั้งนี้ โครงการระบบเคเบิลใต้น้ำที่ IGC เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้บริการเป็นโครงการร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและ OTT มีความยาวกว่า 8,000 กิโลเมตร มีจุดการเชื่อมต่อโดยเริ่มต้นจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ประเทศไทย พม่า และไปสิ้นสุดที่ประเทศอินเดีย ระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงมีจำนวนคู่ใยแก้วนำแสงตามแนวเส้นทางหลักทั้งสิ้น 12 คู่ใยแก้วนำแสง (fiber pairs) โดยระบบรองรับความจุในการสื่อสารข้อมูลได้มากกว่า 200 เทราบิทต่อวินาที (Tbps) ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างหลักของสถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำเสร็จสิ้นพร้อมรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ปี2565
“ปัจจุบัน IGC ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยที่ ALT ตั้งเป้าให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ธุรกิจและได้เริ่มให้บริการแก่ลูกค้าต่างประเทศในระดับ World Class ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแนวหน้าในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภท OTT โดยมีสัญญาให้บริการระยะยาวทั้งการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการสถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในธุรกิจให้บริการระบบเคเบิลใต้น้ำที่ได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท” นายพิชิต กล่าว