"ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป" ไฟเขียวบริษัทลูก “ชัยวัฒนา กรีน แมนเนจเม้นท์” รุกธุรกิจใหม่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เข้าศึกษาการสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์จากการใช้พลังงานหมุนเวียน (Green Bitcoin Mining) ที่มีอยู่ในกลุ่มบริษัท ด้านผู้บริหารสั่งลุยเต็มที่ มองเห็นโอกาสจากกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน ต้นทุนค่าไฟต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบรับนโยบาย Net Zero และการประชุม COP26 หวังสร้าง New S Curve ผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทย่อยมีมติให้บริษัท ชัยวัฒนา กรีน แมนเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการขอเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมศึกษาการนำกำลังการผลิตส่วนเกินที่เหลืออยู่ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำมาใช้เป็น Green Bitcoin Mining รองรับนโยบาย Net Zero หรือเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย
“การขุดบิตคอยน์นั้นใช้พลังงานอย่างมหาศาลถึง 110 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการใช้พลังงานของประเทศเล็ก ฃๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับผลการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นภาคีสมาชิกที่มีเป้าหมายสำคัญ คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ประกอบกับนโยบาย Net Zero การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ จึงเล็งเห็นโอกาสจากการใช้พลังงานหมุนเวียนจากกำลังการผลิตส่วนเกิน
ทั้งในโครงการของกลุ่มบริษัทและพันธมิตรที่จะได้ร่วมกันสร้าง Bitcoin Mining ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มีสัดส่วนของพลังงานที่ใช้ในการขุดเหรียญดิจิทัลที่ไม่ก่อมลพิษเพิ่มให้โลกเรา ทั้งยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าซื้อจากการไฟฟ้าและลดการใช้ทรัพยากรของส่วนรวมได้ โดยคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าของโครงการภายในปีนี้”
กรรมการผู้จัดการ CWT กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าการขยายการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล การสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์จากการใช้พลังงานหมุนเวียน (Green Bitcoin Mining) จะช่วยสร้าง New S Curve ให้ธุรกิจ และเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว สนับสนุนผลงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้น
อนึ่ง บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาคือ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดนครสวรรค์ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแยกขยะเพื่อเตรียมการต่อยอดเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชนได้ภายในเร็วๆ นี้