หลังจากรอคอยกันมา 5 ปี ต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาลงทุนโดยไล่ซื้อหุ้นฝุ่นตลบ ผลักดันให้ดัชนีหุ้นพุ่งทะยาน สร้างจุดสูงสุดใหม่ในปี 2565
ไม่มีโบรกเกอร์รายใดให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่า ต่างชาติยกทัพใหญ่มาไล่ซื้อหุ้นด้วยเหตุใด นอกจากประมวลในภาพรวมว่า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของไทยเติบโต และเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องเป็นแรงกระตุ้นความสนใจของต่างชาติ
ไม่ต้องถามว่าต่างชาติจะอยู่นานไหม จะซื้อต่อเนื่องจนถึงเมื่อไหร่ เพราะไม่มีใครตอบได้ เพียงแต่เชื่อกันว่าปีนี้เงินทุนต่างชาติน่าจะไหลกลับ
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติทุบขายอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 ขายหุ้นสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท ปี 2561 ขายสุทธิ 2.87 แสนล้านบาท ปี 2562 ขายสุทธิ 4.5 หมื่นล้านบาท ปี 2563 ขายสุทธิ 2.64 แสนล้านบาท และปี 2564 ขายสุทธิอีก 2.64 แสนล้านบาท
แต่ปีนี้ซื้อต่อเนื่อง โดยเดือนมกราคมซื้อสุทธิกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และยอดซื้อสะสมเดือนกุมภาพันธ์ 5.63 หมื่นล้านบาท รวมแล้วตั้งแต่ต้นปีมียอดซื้อหุ้นสะสมสุทธิ 70,894 ล้านบาท โดยยังไม่มีสัญญาณการเทขาย
แม้ตลาดหุ้นจะถูกมรสุมข่าวร้ายกระหน่ำใส่ ทั้งจากภายในและภายนอก แต่ดัชนีไม่ได้ผันผวนรุนแรงมากนัก โดยอาจปรับฐานแรงในบางช่วง ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาใหม่ เพราะแรงซื้อของต่างชาติ จนดัชนีสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 2 ปี ที่ระดับ 1,711.58 จุด ซึ่งเป็นจุดปิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผานมา
ไม่ได้เห็นต่างชาติตะลุยซื้อหนักๆ มานานแล้ว และซื้อโดยไม่กังวลผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครนหรือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่กลัวผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสควิด-19 ภายในประเทศ หรือการเปลี่ยนรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้น
มุมมองของต่างชาติเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทย สวนทางกับนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนรวมในประเทศอย่างสิ้นเชิง เพราะกองทุนขายหุ้นหนัก โดยยอดขายหุ้นสุทธิสะสมจากต้นปีมีจำนวน 53,521 ล้านบาท ถล่มขายหนักยิ่งกว่านักลงทุนรายย่อยเสียอีก
ถ้าไม่มีแรงซื้อจากต่างชาติเข้ามาหนุน ดัชนีอาจทรุดหลุด 1,600 จุดไปแล้ว เพราะกองทุนขายไม่เลิก
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเดาใจนักลงทุนต่างชาติได้ว่าจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทยขนาดไหน นักลงทุนจึงไม่ควรตั้งความคาดหวังแรงซื้อของต่างชาติมากเกินไป
ไม่ควรมองตลาดหุ้นปีนี้ในมุมมองโลกสวยเพียงด้านเดียว เพราะยังมีปัจจัยลบกดดันการลงทุนอยู่รอบด้าน ทั้งจากภายในและภายนอก
สถานการณ์ยูเครนกลับมาคุกรุ่นตึงเครียดกันอีกครั้ง ดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกลางเดือนมีนาคมนี้ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังน่ากังวล ตัวเลขใกล้ทะลุ 2 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่เสถียรภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังสั่นคลอนจนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตอันใกล้
ภาวะแวดล้อมดูไม่สดใสเสียเลย และตลาดหุ้นน่าจะอยู่ในสภาพทรงๆ ทรุดๆ แต่กลับคึกคักสุดขีด พุ่งทะยานหลายวันติด เพราะมีแรงซื้อของต่างชาติเป็นกองหนุน จนมองกันว่ารอบนี้มีสิทธิลุ้นดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 1,750 จุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ถ้าปราศจากปัจจัยลบกดดัน
ต่างชาติหนีจากตลาดหุ้นไทยมา 5 ปีแล้ว ปีนี้อาจเป็นปีแรกที่กลับมา และจะช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศการซื้อขายหุ้นคึกคักต่อเนื่อง แต่นักลงทุนต้องให้น้ำหนักกับการเทขายของกองทุนเหมือนกัน
เพราะถ้ากองทุนมองแนวโน้มตลาดหุ้นสดใส ดัชนีหุ้นจะพุ่งไปไกล คงไม่ปักหลักเทขาย
สถานการณ์ในยูเครน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และปัญหาการเมืองในประเทศ อาจเป็นปัจจัยที่กองทุนต้องเฝ้าระวัง และขายหุ้นลดความเสี่ยงออกมา
ระหว่างต่างชาติที่กำลังไล่ช้อนซื้อหุ้นกับกองทุนโยนหุ้นขาย นักลงทุนรายย่อยจะยืนอยู่ฝั่งไหน
จะชิงขายทำกำไรลดความเสี่ยงออกไปก่อน หรือถือหุ้นไว้ รอดักขายให้ฝรั่งเมื่อราคาขยับขึ้นไปอีกสักหน่อย