จากปัจจัยลบทั้งในเรื่องของการขาดแรงงานในการก่อสร้างจากประกาศของกรุงเทพมหานคร ที่มีประกาศสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 1 เดือน และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานไปที่อื่นๆ เนื่องจากพบคลัสเตอร์แรงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้พัฒนามีความกังวลในการก่อสร้างคอนโดมิเนียมเสร็จล่าช้า ไม่ทันกำหนดการโอนตามเวลาที่ตกลงกันในสัญญา ซึ่งส่งผลให้หลายโครงการคอนโดฯ ในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถก่อสร้างได้ทันตามกำหนดเดิม
บวกกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาปรับลดสัดส่วนการพัฒนา รวมถึงการเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ลง เนื่องจากหลายปัจจัยลบที่เข้ามากระทบตลาดทั้งในเรื่องของกำลังซื้อต่างชาติที่หายไปจากตลาดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงอุปทานเหลือขายในหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถระบายออกได้ ส่งผลให้ผู้พัฒนาส่วนใหญ่เลือกที่จะปรับลดการเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ลง หรือบางรายประกาศเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงที่ผ่านมาออกไป เมื่ออุปทานเปิดขายใหม่ปรับตัวลดลง แน่นอนว่าส่งผลให้คอนโดฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก และถือว่าเป็นอุปทานคอนโดฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่น้อยที่สุดในรอบ 13 ปี
ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่า ภาพรวมตลาดคอนโดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2543-2564 มีคอนโดฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ มากถึง 711,692 ยูนิต สำหรับปี 2564 ที่สร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ เพียงแค่ 67 โครงการ 25,113 ยูนิตเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีคอนโดฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดน้อยที่สุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯ รองมาจากในปี พ.ศ.2551 ที่มีคอนโดฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดอยู่ที่ 20,806 ยูนิต และปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 56.1 จากอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในปีก่อนหน้าทั้งหมด 57,220 ยูนิต
และจากข้อมูล พบว่า เขตห้วยขวาง เป็นเขตที่มีโครงการคอนโดฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดสูงที่สุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวน 3,189 ยูนิต รองลงมาคือ เขตจตุจักร จำนวน 2,535 ยูนิต และเขตภาษีเจริญ จำนวน 2,449 ยูนิต
สำหรับในปี พ.ศ.2565 แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะมีคอนโดฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกกว่า 33,569 ยูนิต ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 33.7 และส่วนใหญ่ยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก ในช่วงระดับราคาประมาณ 70,000-120,000 บาทต่อตารางเมตร
หากพิจารณาจากอุปทานคอนโดฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด711,692 ยูนิต พบว่าคอนโดฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงปี 2543-2564 ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกมากที่สุดถึง 408,687 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อยละ 57.4 นอกจากนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 303,275 ยูนิต หรือคิดเป็นร้อนละ 42.6 ซึ่งเราพบว่า สำหรับในปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลายรายหันกลับมาให้ความสนใจกับการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในช่วงราคาขายต่ำกว่า 50,000 บาทต่อ ตร.ม. ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกอีกครั้ง และหลายโครงการที่เปิดตัวในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ซื้อเพื่อการปล่อยเช่า รวมถึงเรียลดีมานด์ที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยเป็นอย่างดี
สำหรับในปี พ.ศ.2565 ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ทิศทางของตลาดคอนโดฯ ว่า โดยภาพรวมตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งเราเห็นถึงสัญญาณที่ดีตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลาย การกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถานได้มีการผ่อนปรน ควบคู่ไปกับจำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือมาตรการเปิดประเทศจากทางภาครัฐที่อนุญาตให้มีการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้สะดวกมากขึ้น
รวมถึงปัจจัยบวกในเรื่องที่การธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับใช้สำหรับสัญญาเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2564-31 ธันวาคม พ.ศ.2565 ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ กลับมาคึกคักมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้พัฒนามีความเชื่อมั่นในตลาดคอนโดฯ ว่าจะมีการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ จึงเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีหน้ากันอย่างคึกคัก
ซึ่งฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่า อุปทานเปิดตัวใหม่ในปีหน้าอาจปรับตัวมาอยู่ที่ประมาณ 24,000-27,000 ยูนิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 28.5-34.0 จะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากที่ตลาดซบเซามากว่า 3 ปี คาดการณ์ว่าสำหรับในปี 2565 ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกหรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงรามคำแหง-ลำสาลี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเฉพาะถนนรามอินทรา และทำเลย่านบางนา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดฯ กันอย่างคึกคักในปีหน้า